นำร่อง”สยามสแควร์”ไร้สายไฟฟ้าอย่างแท้จริงในปี 63

549

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ในเขตกรุงเทพมหานครกันบ้าง ที่ล่าสุด สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และพันธมิตรด้านโทรคมนาคม นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยเริ่มนำร่องดำเนินการให้สยามสแควร์เป็นพื้นที่ไร้สายไฟฟ้าและสายสื่อสารอย่างแท้จริง ภายในปี 2563 นี้

จากนั้นจึงเดินหน้าสานต่อขยายพื้นที่ไร้สายต่อเนื่องไปยังพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้โครงการ CHULA SMART CITY เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สิน และกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงนโยบายที่เปิดให้พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (Chula Smart City) เพื่อร่วมกันศึกษา พัฒนารูปแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ในการดูแลของจุฬาฯ และพัฒนาชุมชนเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

โดยล่าสุดได้ปรับปรุงทัศนียภาพ ความสวยงาม และความเรียบร้อย ของสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร เพื่อทัศนียภาพที่สวยงามและความปลอดภัย ทางสำนักงานฯ จึงการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารดังกล่าว ด้วยการนำลงใต้ดิน

 

พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมด้วยการติดตั้งโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสง Fiber Optic Cable (FOC) ฝังในระดับใต้ดิน เพื่อใช้ทดแทนสายสื่อสารเดิมทั้งหมด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม อย่างบริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

นำร่องดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่สยามสแควร์ บนเนื้อที่ขนาด 63 ไร่ ประกอบไปด้วยอาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ตึกสูง และร้านค้าจำนวนมาก สยามสแควร์ถือเป็นแลนมาร์คสำคัญด้านการท่องเที่ยวที่อยู่ใจกลางเมือง เป็นศูนย์กลางการ Shopping แหล่งรวมร้านค้าแฟชั่น ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก

 

ในอนาคตจะมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็น Walking Street เพื่อรองรับการเดิน Shopping อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

 

นอกจากนี้แล้ว จะดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้า โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อรองรับโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (Chula Smart City) โดยครอบคลุมทั้งพื้นที่การศึกษาและพื้นที่พาณิชย์ รวม 1,153 ไร่ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยถนนพระราม 4 ถนนพระราม 1 ถนนบรรทัดทอง ถนนอังรีดูนังต์ มีการพัฒนาโครงการต่างๆ ประกอบด้วย

 

1.การปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย มีทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จุฬาฯ ให้สวยงาม และครอบคลุมทั้งพื้นที่จุฬาฯ ภายในปี 2564

 

2.การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งในพื้นที่จุฬาฯ มีศักยภาพในการติดตั้ง Solar rooftop ประมาณ 20 เมกะวัตต์

 

3.ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage System) ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่สถานีไฟฟ้าย่อยปทุมวัน ภายในปี 2563

 

4.การพัฒนาระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) ภายในปี 2564 สามารถเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ซึ่งหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยง /และบริหารจัดการพลังงาน ในพื้นที่ Smart City

 

และ 5.พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ภายในปี 2564 ควบคุมและแก้ไขระบบไฟฟ้าขัดข้องอย่างอัตโนมัติ อาทิคุณภาพไฟฟ้า เช่น แรงดันไฟฟ้า ให้อยู่ในมาตรฐานการให้บริการ และผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าได้ในปัจจุบัน

 

การนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน เป็นปัญหาของจังหวัดต่างๆมานาน เฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดังนั้น หากแนวทางการพัฒนาในเรื่องนี้ ของจุฬาฯ ภายใต้โครงการ CHULA SMART CITY ประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาของพื้นที่อื่นๆ ต่อไปครับ