เปิดTORแล้ว! รถไฟฯเชื่อม 3 สนามบิน -ให้บริการปี 2566

749

อีกโครงการเร่งด่วนของไทย ที่มีการจับตากันมากในขณะนี้ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีความรุดหน้า เปิด ToR แล้ว

 

ล่าสุดนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันเปิดเผยว่า ได้ประกาศเชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมประกวดราคาแล้ว เมื่อ 30 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการคัดเลือกผู้ลงทุนให้ได้ภายในปี 2561 นี้

 

สำหรับโครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงรวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร คือ

1) รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย แอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม.
2) รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม.
3) รถไฟความเร็วสูงจาก สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม.

พร้อมกันนั้น จะมีการพัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร โดย

1.สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง
2.สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ และโรงซ่อม หัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

Cr. EEC WE CAN

 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีมูลค่าราว 224,544.36 ล้านบาท เป็นการดําเนินโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือ PPP EEC Track เพื่อลดค่าใช้งบประมาณภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพโดยเอกชน โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ด้วยการออกแบบกระบวนการให้รวดเร็วและกระชับในรูปแบบ พีพีพี อีอีซี แทรค จะทำให้การเดินหน้าของโครงการรวดเร็ว สอดรับไปกับการพัฒนาของเขตพิเศษภาคตะวันออก

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

โดยจะเป็นส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม.

มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ

ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา

 

Cr. EEC WE CAN

 

โครงสร้างทางวิ่งของโครงการ ประกอบไปด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร โดยเบื้องต้นจำแนกลักษณะรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งทั้งโครงการเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ทางวิ่งยกระดับระยะทางประมาณ 181 กิโลเมตร 2) ทางวิ่งระดับดินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และ 3) ทางวิ่งใต้ดินระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

 

 

Cr. EEC WE CAN

 

โดยตามแผนการปฎิบัติงาน จะให้เอกชนเตรียมเอกสารยื่นข้อเสนอในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2561 จากนั้นจะประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกในเดือนตุลาคม 2561 และลงนามในสัญญาภายในปี 2561 และกำหนดเปิดให้บริการ ปี 2566

ด้วยการที่โครงการรถไฟความเร็วสูงมีความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. จึงทำให้สามารถเดินทางจากสนามบินอูู่ตะเภาสามารถเชื่อมกับกรุงเทพฯ ได้ใน 45 นาที เทียบกับ 2-3 ชั่วโมงโดยรถยนต์ โดยมีอัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ถึงพัทยา ประมาณ 270 บาท และค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ถึงสนามบินอูู่ตะเภา ประมาณ 330 บาท

 

Cr. EEC WE CAN

 

นี่คือความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กำลังถูกกล่าวถึง ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ว่าใครจะมีโอกาสคว้าชิ้นปลามันนี้ไปครอง ตุลาคมนี้ปี 61 รู้กันครับ