เผยโฉม “สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ “สถานีใหญ่สุดของรถไฟลาว-จีน

483

 

ไปที่ สปป.ลาวกันบ้าง ล่าสุด ได้มีการเผยโฉมสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ของโครงการรถไฟลาว-จีน แล้ว ซึ่งจะเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดของโครงการนี้ โดยมี 3 ชานชาลา และ 5 เส้นทางเดินรถ ตามแผน รถไฟลาว-จีนกำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคมปีนี้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

8 ตุลาคม 2564 สำนักข่าว laotiantimes รายงานว่า สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเส้นทางรถไฟลาว-จีน ได้เปิดตัวแล้ว หลังใกล้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ก่อนการเปิดเส้นทางรถไฟในเดือนธันวาคมนี้

สำหรับสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ สร้างขึ้นบนพื้นที่ 14,543 ตารางเมตร ในหมู่บ้าน Xay เขตไซธานี (Xaythany) นครหลวงเวียงจันทน์ จะเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดของเส้นทางรถไฟสายนี้ โดยมี 3 ชานชาลา และ 5 เส้นทางเดินรถ

สถานีนี้สร้างโดย China Railway Construction Group ด้วยแนวคิดการออกแบบที่ชวนให้นึกถึง “เมืองแห่งไม้จันทน์” ซึ่งเป็นความหมายดั้งเดิมของชื่อนครหลวงเวียงจันทน์

 

สถานีนครหลวงเวียงจันทน์/Cr.ภาพ CRI-FM93

 

และสถานีนี้ยังได้รับการออกแบบเพื่อสะท้อนถึงมิตรภาพระหว่างจีนและลาว

ตามข้อมูลของสำนักข่าว Xinhua ระบุว่า อาคารหลักของสถานีนี้ ถูกออกแบบประยุกต์ ใช้สถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณเป็นเกณฑ์มาตรฐาน และผสมผสานลักษณะทางสิ่งแวดล้อมของเวียงจันทน์เข้ากับรูปแบบประตูของสถาปัตยกรรมคลาสสิกแบบจีน

ด้านนอกอาคาร ตกแต่งด้วยองค์ประกอบภาพ ของต้นไม้ป่าฝนเขตร้อน และติดตั้งชายคา และเสาเป็นรูปกิ่งไม้ 8 กิ่ง พร้อมโครงสร้างเหล็กเปลือยรองรับหลังคาโถงสถานี เมื่อแสงแดดส่องลงมาจะสะท้อนเห็นภาพต้นไม้หลายต้นที่ทอดตัวเป็นเงาด้านนอกอาคาร ข
ณะที่ภายในห้องโถงถูกทาด้วยสีของดอกจำปา ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติลาว

รถไฟลาว-จีน จะวิ่งระหว่างชายแดนจีนและเมืองหลวงเวียงจันทน์ประมาณ 426 กิโลเมตร ด้วยความเร็วปฏิบัติการ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีทั้งหมด 32 สถานี

การเดินทางโดยใช้รถไฟลาว จีนนี้ จาก สปป.ลาวไปจีน ใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง แต่ถ้าขนส่งสินค้าใช้เวลาราว 10-12 ชั่วโมง

ครับ คงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น สำหรับโครงการเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่เตรียมจะเปิดใช้ใน วันที่ 2 ธันวาคมปีนี้ ซึ่งจะเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ของจีน ลาว ไทย

และ ในอนาคต จะเชื่อมต่อ จากภาคใต้ของไทย เข้ามาเลเซีย และสิงคโปร์ ต่อไป

คาดว่าจะทำให้พื้นที่บริเวณนี้คึกคักอีกแห่งหนึ่งของโลก

โดยในส่วนของประเทศไทย ควรจะเร่งสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย เลย โดยไม่จำเป็นต้อง ให้ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา แล้วเสร็จ

ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสอย่างมหาศาล ยุคนี้ 5 G แล้ว คิดช้า ทำช้า ไม่ได้