สวัสดีครับพบกันกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กันบ้างนะครับ ซึ่งล่าสุดไม่พลิกไปไหนแล้ว โครงการนี้ไม่พ้นมือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตร อย่างแน่นอน
เพราะว่า เป็นผู้ยื่นข้อเสนอด้านการลงทุน ผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา และบรรลุข้อตกลงในการเจรจาในครั้งนี้
โดย เมื่อ 13 พ.ค.62 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ บอร์ด อีอีซี และได้รับทราบผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ กับเอกชนที่ได้คัดเลือกดังกล่าวต่อไป
สำหรับรายละเอียดขั้นตอนต่อจากนี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี บอกว่า หลังจากนี้คาดจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาร่างสัญญาการร่วมลงทุนกับรัฐ ในระบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) หลังจากนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะลงนามในสัญญากับกลุ่มซีพีเอชได้
โดยวงเงินต่ำกว่าที่เสนอ ครม.อนุมัติ 2,492 ล้านบาท หรือ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินในส่วนที่รัฐต้องลงทุน 152,457 ล้านบาท แต่กลุ่มซีพีเอช เสนอ 149,965 ล้านบาท โดยส่วนต่างที่เหลือคือส่วนที่เอกชนต้องลงทุน
ส่วนนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเกิดขึ้นภายหลังจากรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้รับการอนุมัติ รวมถึงความพร้อมการส่งมอบพื้นที่และการก่อสร้าง
ส่วนการเวนคืนพื้นที่เพื่อก่อสร้าง อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด แต่จะมีไม่มาก เพราะแนวเส้นทางก่อสร้างอยู่ในเขตทางรถไฟอยู่แล้ว จะมีเพียงบางพื้นที่ เช่น สถานี ที่จะเวนคืน จึงกระทบประชาชนไม่มากนัก
ก็ชัดเจนแล้ว สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพียงรอเซ็นสัญญาเท่านั้น ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ปี พ.ศ. 2566 ก็น่าจะเปิดให้บริการได้ครับ