ชงแผนปฏิบัติ พลิกโฉมคลองแสนแสบ ให้เห็นผลใน 3 ระยะ

552

 

 

มาติดตามการฟื้นฟูคลองแสนแสบ กันบ้าง ที่ล่าสุด ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ เพื่อพิจารณาเห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ตามที่ 8 หน่วยงานเสนอ เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีการบูรณาการ การแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำอย่างยั่งยืน โดยแบ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ออกเป็นระยะเร่งด่วน (ปี 2564) ระยะกลาง (ปี 2565-2570) และระยะยาว (ปี 2571 เป็นต้นไป)

18 มี.ค.64 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นการประชุมเพื่อรับทราบความก้าวหน้าผลดำเนินการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ รวมทั้งพิจารณาเห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ตามที่ 8 หน่วยงานเสนอ

Cr.ภาพ กระทรวงคมนาคม

 

ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์การจัดการน้ำเสีย กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งสิ้นจำนวน 84 โครงการ ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำอย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการระบบบำบัดน้ำเสียตามที่หน่วยงานได้เสนอมา เป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีวงเงินค่อนข้างสูง จึงได้สั่งการให้กรุงเทพมหานคร กลับไปพิจารณาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน และใช้งบประมาณที่มาจากรายได้ของหน่วยงานก่อนเป็นอันดับแรก ในส่วนโครงการขนาดใหญ่ ให้เสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ พิจารณาก่อนเสนอขอรับสนับสนุนงบประมาณ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพยากรน้ำ เช่น โครงการด้านคมนาคม ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนปกติของหน่วยงานต่อไป

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ กล่าวว่า สทนช. ได้วิเคราะห์แผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบของทั้ง 8 หน่วยงาน เพื่อปรับปรุงเป้าหมายตัวชี้วัดและผลสัมฤทธิ์ให้สะท้อนกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

โดยแบ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ออกเป็นระยะเร่งด่วน (ปี 2564) ระยะกลาง (ปี 2565-2570) และระยะยาว (ปี 2571 เป็นต้นไป) ตามกรอบการดำเนินงานแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 84 โครงการ สามารถสรุปได้ 5 เป้าประสงค์ ดังนี้

Cr.ภาพ fb ผู้ว่าฯ อัศวิน

 

1.การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน 10 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า และจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) การเดินเรือในคลองแสนแสบมีส่วนต่อขยายเพิ่มเติม 10.50 กม. มีท่าเทียบเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย 8 ท่า และระยะกลาง (ปี 2565-2570) มีการพัฒนาและปรับปรุงท่าเทียบเรือในคลองแสนแสบ 10 ท่า และมีเรือไฟฟ้าเพิ่มในการสัญจร 12 ลำ สามารถรองรับประชาชนที่ใช้บริการเรือไฟฟ้าส่วนต่อขยายวัดศรีบุญเรืองถึงสำนักงานเขตมีนบุรี ได้ถึง 800 – 1,000 คนต่อวัน

2.การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ 14 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง 190 ตร.กม. ส่วนคลองบางขนากมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนริมคลองและซ่อมแซมสะพานข้ามคลอง รวมทั้งมีการพัฒนาและขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ 21 แห่ง และในระยะกลาง (ปี 2565-2570) มีการสร้างสะพานข้ามคลองบางขนาก 4 แห่ง สามารถเพิ่มปริมาณการสัญจรได้ 4,000 คัน/วัน

3.การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ 44 โครงการ ดำเนินการโดย กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร องค์การจัดการน้ำเสีย และจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) มีการจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลองแสนแสบ มีระบบรวบรวมน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 10,000 ลบ.ม./วัน มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบกำกับดูแลโรงงานบริเวณคลองแสนแสบ

รวมทั้งมีการติดตามและตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ อาคารประเภทต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะกลาง (ปี 2565-2570) มีระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 661,000 ลบ.ม./วัน และระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 2 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 935 ลบ.ม./วัน และในระยะยาว (ปี 2571 เป็นต้นไป) มีระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 597,000 ลบ.ม./วัน และระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 24 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 2,590 ลบ.ม./วัน

4.การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ 1 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) มีการสำรวจสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่างๆ ที่รุกล้ำลำคลองแสนแสบและคลองสาขา

และ 5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ 15 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) มีการกำจัดวัชพืชคลองบางขนาก ปริมาณ 14,700 ตัน ระยะกลาง (ปี 2565-2570) สามารถเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บางส่วนของเขตบางกะปิ เขตสะพานสูง เขตบึงกุ่ม และเขตคันนายาว พื้นที่ 25 ตร.กม. ด้วยอุโมงค์ระบายน้ำในอัตราการระบายน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที ความยาว 3.8 กม. การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะ 33.32 กม. มีพื้นที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 130 ตร.กม. เป็นต้น
คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ. 2380 ด้วยพระราชประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบ และเสบียงอาหารไปยังญวน (เวียดนาม) ในราชการสงครามไทย-ญวน ซึ่งใช้เวลารบนานถึง 14 ปี ใน คือ อานัมสยามยุทธ

ปัจจุบันมีความสำคัญทั้งการระบายน้ำ และเส้นทางสัญจร แต่มีปัญหามลภาวะทางน้ำ ส่งกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ หากมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และทำได้เหมือนคลองโอ่งอ่าง หรือ คลองผดุงกรุงเกษม แล้ว ก็จะมีส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อม การคมนาคม และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกรุงเทพมหานคร ครับ