มาติดตามข่าว ความก้าวหน้าของการใช้เทคโนโลยี 5G มาใช้ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กันบ้าง ล่าสุด ทางEEC ได้มีการเปิดตัว”บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย ” ร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด ตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยใช้เทคโนโลยี 5G ในการควบคุม บริหารจัดการเมืองแห่งแรกของประเทศไทย เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
12 มีนาคม 2564 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัว “บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย ” ร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ หรือ NT โดยมีนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง ร่วมเป็นสักขีพยาน ถือเป็นโครงการที่ความร่วมมือร่วมใจของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อทำให้เกิดต้นแบบการใช้เทคโนโลยี 5G ในการบริหารจัดการเมืองสู่ Smart City ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่อง 5G สมาร์ทซิตี้ และประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนายปรมินทร์ แสงศักดิ์สิทธารถ รองปลัดเทศบาลตำบลบ้านฉาง เป็นผู้ร่วมอภิปราย
โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เปิดเผย การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ให้สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด ซึ่งใช้เทคโนโลยี 5G ในการควบคุมเมืองผ่านข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ( มหาชน ) หรือ NT เพื่อพัฒนาเทศบาลตำบลบ้านฉาง ให้กลายเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ด้วยการสร้างชุมชนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมชุมชนยั่งยืน บริการด้านสาธารณสุขและระบบสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชนด้วยเทคโนโลยี 5G แห่งแรกของประเทศไทย
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
สำหรับเมืองอัจฉริยะ (Smart city) คือรูปแบบของเมืองแห่งอนาคต ที่ใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อระหว่างประชาชน ชุมชน กับระบบงานบริการของทางภาครัฐ และภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หัวใจของการเป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบนั้น ประกอบไปด้วยการรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยี (Internet of Things-IoT) ที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้อย่างง่ายดายและรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มาใช้ควบคู่กับการเก็บฐานข้อมูลโครงสร้างประชากรและข้อมูลทางภูมิศาสตร์จำนวนมหาศาล และนำมาวิเคราะห์แบบบูรณาการ ต่อยอดในการพัฒนานโยบายต่างๆของทางภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเทคโนโลยี 5G ที่มีระบบการประมวลผล และความเร็วในการเชื่อมต่อที่แรงกว่า 4G ถึง 100 เท่า ทั้งยังสามารถสร้างศูนย์รวมข้อมูล (Data center) เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงสุด และสร้างแพลตฟอร์มแสดงผล ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ
สำหรับเทศบาลตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 7 หรือ มอเตอร์เวย์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากมีศักยภาพเพียงพอในการเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงในย่าน ASEAN5 ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่อยู่ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) ยกระดับให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัลและการแพทย์ การบินและโลจิสติกส์ โดยใช้ระบบอัจฉริยะครบวงจรด้วยเทคโนโลยี 5G
ที่ผ่านมา สกพอ. และ NT ได้ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อทดสอบระบบเสาอัจฉริยะ 5G ( 5G Smart pole ) โดยสามารถใช้งานได้มากกว่า 10 ฟังก์ชั่น เช่น ระบบการตรวจจับระดับสารพิษในอากาศและค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง ตลอด 24 ชั่วโมง และส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน เพื่อเฝ้าระวังและสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที
ในด้านความปลอดภัย หากประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีเสาสมาร์ทโพล 5G เกิดอุบัติเหตุหรือประสบอันตรายรวมถึงภัยที่เกิดจากรถชน ประชาชนสามารถกดปุ่มขอความช่วยเหลือ ( SOS ) จากเสาสมาร์ทโพล 5G ใกล้ตัวหรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่นเมืองได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้จากกล้องวงจรปิดที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ ( AI ) สามารถสังเกตการณ์ รวมถึงการวิเคราะห์ตรวจจับใบหน้าอาชญากรหรือตรวจสอบคนหาย โดยโครงการนำสัญญาณ 5G มาประยุกต์ใช้ในการโอนถ่ายและเชื่อมข้อมูลกับภาครัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ( RealTime ) และช่วยเหลือได้ทันเวลา
นอกจากนี้ยังสามารถดูแลและรักษาความปลอดภัย โดยการนำโดรน 5G ไร้คนขับทำหน้าที่บินสำรวจบริเวณหาดและท่าเรือ หาเรือจอดซ้อน เพื่อตรวจสอบคนลอบเข้าเมือง และการเดินเรือที่ผิดกฎหมาย หรือแม้แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในทะเล
ดร.ณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 2 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ( มหาชน )
ด้าน ดร.ณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 2 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ( มหาชน ) กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับ ระบบสื่อสารต่างๆ และเทคโนโลยี 5G ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สกพอ. เพื่อพัฒนาการใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคมและดิจิทัลในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) ทั้งหมด รองรับระบบการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยภาครัฐสามารถบริหารจัดการเทศบาลตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง ให้ไปเป็นเมืองต้นแบบ 5G สมาร์ทซิตี้ ( Smart City ) ในอนาคต
ขณะนี้ทางบริษัท ได้วางท่อ เสา สายส่งสัญญาณ ระบบไฟเบอร์ออพติกสำหรับโครงข่าย 5G โดยเฉพาะ เพื่อรองรับการให้บริการผ่านคลื่นสัญญาณย่าน High Band ความถี่ 26 GHz ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ล่าสุดจาก กสทช. ซึ่งทั้งหมดถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของบริการโทรคมนาคมที่ภาคเอกชนสามารถใช้งานได้ร่วมกัน ( Infrastructure Sharing ) เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชนใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ
เทศบาลตำบลบ้านฉางถือเป็นการนำร่องเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับความเร็วและแรงกว่าระบบ 4G เดิมมากกว่า 100 เท่า ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนและประชาชนสามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันได้อย่างสูงสุด โดยได้นำเทคโนโลยี 5G Core ของ Mavenir Systems Limited ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์เครือข่ายคลาวด์เนทีฟแบบครบวงจร ( end-to-end ) รายเดียวในอุตสาหกรรม การมุ่งเน้นไปที่การเร่งการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายซอฟต์แวร์และการกำหนดนิยามใหม่ของระบบเครือข่ายสำหรับผู้ให้บริการการสื่อสาร ด้วยมาตรฐานเทคโนโลยี Open-RAN และ Open API ทำงานผ่านระบบ Cloud ที่มีความปลอดภัยสูงเพื่อควบคุมโครงสร้างพื้นฐาน 5G ให้สามารถเชื่อมต่อระบบ Voice Over LTE (VoLTE), Voice Over Wireless) (VoWiFi), Advanced Messaging (RCS), Multi-ID, virtual Evolved Packet Core ( vEPC ) และ Virtualized RAN ได้ครบถ้วน
นอกจากนี้ NT ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน คือ บริษัท 5จี แคททะลิซท์ เทคโนโลยีส์ จำกัด บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมกันจัดหาเทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลกและหลากหลายเพื่อออกแบบ 5G โซลูชั่นส์ที่ตอบโจทย์ระบบการบริหารจัดการเมืองใช้งานของเมือง เช่น การให้ข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ในเมือง การจัดระเบียบการขนส่งและการจราจร ข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและระบบไฟทางอัตโนมัติ ระบบกำจัดน้ำเสีย เป็นต้น เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G นำร่องเมืองอัจฉริยะและเตรียมพร้อมให้บ้านฉางเป็นเมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย ที่จะมีการพัฒนาให้ไปเป็นเมืองต้นแบบ 5G สมาร์ทซิตี้ (Smart City) ในอนาคต
ซึ่งจะบริหารจัดการให้เป็นเมืองที่มีความน่าอยู่ สามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นที่อยู่อาศัย ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและเกิดการใช้ทรัพยากรของเมืองที่คุ้มค่าที่สุด
โครงการบ้านฉาง จะเป็นเมืองต้นแบบ 5G ที่สำคัญเพื่อขยายผลเป็นการบริหารเมืองอัจฉริยะ ( Smart City ) แห่งแรกของประเทศไทย ตามหลักการ 7 สมาร์ทของสำนักงานดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( DEPA ) ในอนาคตอันใกล้นี้
และนี่จะเป็นอีก 1 ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย หากมีการพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้ ก็จะทำให้ประเทศ มีโอกาสไปยืนอยู่ในระดับแถวหน้าของเอเชีย และของโลก ครับ