ทำสถิติสร้างเร็วสุดในไทย! อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสีส้ม ช่วงหัวหมาก-รามคำแหง

620

 

 มาติดตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กันต่อนะครับ ล่าสุด สามารถขุดเจาะสำเร็จอีกอุโมงค์ คือจากสถานีหัวหมากเข้าสู่สถานีรามคำแหง ของสัญญาที่ 2และการขุดเจาะดังกล่าว ยังถือเป็นสถิติที่ดีที่สุดของการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินของประเทศไทย โดยสามารถประกอบผนังอุโมงค์ความยาว 1.4 เมตรได้ถึง 34 วงต่อวัน คิดเป็นระยะทาง 47.6 เมตร เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

9 มีนาคม 2564 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร รฟม. ลงพื้นที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฯ เพื่อตรวจเยี่ยมและร่วมบันทึกภาพความสำเร็จของงานขุดเจาะอุโมงค์ตัวที่ 3 “หัวเจาะบูรพาทรัพย์” ที่เจาะทะลุ (TBM Final breakthrough) จากสถานีหัวหมากเข้าสู่สถานีรามคำแหงอย่างเป็นทางการ

ซึ่งดำเนินการโดย กิจการร่วมค้าซีเคเอสที ผู้รับจ้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน สัญญาที่ 1 ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – รามคำแหง 12 และสัญญาที่ 2 ช่วงรามคำแหง 12 – หัวหมาก ณ. สถานีรามคำแหง ถนนรามคำแหง สำหรับงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน จากสถานี รฟม. ถึงสถานีหัวหมาก มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 13.3 กิโลเมตร

โดยใช้ชุดหัวเจาะทั้ง 3 ตัว ได้แก่
– หัวขุดเจาะที่ 1 “หัวเจาะบูรพาชัย” ดำเนินการขุดเจาะจากสถานี รฟม. – สถานีรามคำแหง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 – 20 ธันวาคม 2563
– หัวขุดเจาะที่ 2 “หัวเจาะบูรพาโชค” ดำเนินการขุดเจาะจากสถานี รฟม. – สถานีรามคำแหง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 – 26 กุมภาพันธ์ 2564
– หัวขุดเจาะที่ 3 “หัวเจาะบูรพาทรัพย์” ดำเนินการขุดเจาะจากสถานีหัวหมาก – สถานีรามคำแหง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 – 6 มีนาคม 2564

นอกจากนี้ การดำเนินขุดเจาะของหัวขุดเจาะที่ 3 หรือ หัวขุดเจาะบูรพาทรัพย์ดังกล่าว ยังถือเป็นสถิติที่ดีที่สุดของการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินของประเทศไทย โดยสามารถประกอบผนังอุโมงค์ความยาว 1.4 เมตรได้ถึง 34 วงต่อวัน คิดเป็นระยะทาง 47.6 เมตร

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ความก้าวหน้างานโยธา 77.77% และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567 ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงกรุงเทพ ฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง ทั้งยังเป็นเส้นทางที่จะเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ถือว่า เป็นอีกโครงการยาก เพราะต้องใช้วิศวกรรมชั้นสูง ทั้งยกระดับ และการขุดอุโมงค์ แต่ บริษัทผู้รับเหมาของไทย สามารถทำได้ดีไม้แพ้บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

ดังนั้นนี่คือ 1 ในย่างก้าวสำคัญของไทย ในการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ และจะเป็นช่องทางสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ระดับกลาง ได้โดยเร็ว และจะสามารถสร้างขนาดเศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้น แบบยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

เพราะยืนบนขาของตนเอง ไม่ได้ไปหวังการลงทุนจากต่างชาติมากเกินไป