มาติดตามความก้าวหน้าของไทยเรื่องเรือพลังงานไฟฟ้ากันบ้างครับ ล่าสุดกรมเจ้าท่า นำร่องเรือหางยาวพลังงานไฟฟ้าต้นแบบ ที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี หวังยกระดับการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) เป็นการท่องเที่ยววิถีใหม่ ปลอดภัยไร้มลพิษอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งได้จัดทำร่างข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการตรวจเรือโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสมกับเรือหางยาว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งเข้ากระทรวงคมนาคม เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
5 มีนาคม 2564 นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี ตรวจติดตามโครงการต่อเรือไฟฟ้าต้นแบบ เรือโดยสารหางยาวที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า พร้อมทดลองนั่งก่อนใช้งานจริง โดยมีนายภูเมศ สุขม่วง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
สืบเนื่องจาก นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ เมื่อปี 2562 เพื่อรับทราบปัญหาของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาเรือหางยาวติดเครื่องยนต์ มีการวิ่งเร็ว และมีเสียงดัง ประกอบกับมีควันดำ ส่งผลให้เกิดมลพิษทางเสียง อากาศและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ อธิบดีกรมเจ้าท่า จึงได้สั่งการให้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 สำนักมาตรฐานเรือ และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครปฐม ร่วมกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพด้านการต่อเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้แก่ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และชุมชนในท้องถิ่น ร่วมกันดำเนินการต่อเรือโดยสารหางยาวที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้งานในคลองดำเนินสะดวก ให้เป็นเรือต้นแบบที่ลดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้คนในชุมชนได้นำไปเป็นทางเลือกในการต่อเรือใหม่ หรือเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ดีเซลเก่ามาใช้มอเตอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทน
พร้อมทั้งได้จัดทำร่างข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการตรวจเรือโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสมกับ เรือหางยาว ที่จะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งเข้ากระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา โดยนำร่องการพัฒนาเรือหางยาวท่องเที่ยวให้เป็นเรือไฟฟ้าต้นแบบที่ใช้งานได้จริงและไม่เกิดเสียง หรือมลพิษทางอากาศ ลด PM 2.5
โดยโครงการดังกล่าวมีเรือจำนวน 3 ลำ เป็นเรือไม้ 2 ลำ และเรือจากภาคเอกชน ประกอบขึ้นด้วยอลูมิเนียม 1 ลำ ซึ่งชาร์จ 1 ครั้ง ใช้เวลา 4 ชั่วโมง วิ่งได้ประมาณ 10 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด ประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถชาร์จไฟที่บ้านได้
ทั้งนี้ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มอบนโยบาย โดยให้แนะนำผู้ประกอบการและชุมชน เปลี่ยนมาติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ให้เกิดขึ้น 8-10 ลำ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อีกทั้ง เป็นการท่องเที่ยวสีเขียววิถีใหม่ปลอดภัยไร้มลพิษอย่างยั่งยืน
เรือหางยาว เป็นสัญลักษณ์ของไทย และควบคู่กับการท่องเที่ยวทางน้ำของไทย แต่การใช้เครื่องยนต์ ที่มีควันดำและเสียงดัง ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน
ดังนั้น การดำเนินการเรื่องนี้ของกรมเจ้าท่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเป็นไปได้ควรดำเนินการทั้งกฎหมาย และมาตรการจูงใจ ควบคู่กันไป อย่างเร่งด่วน และไทยควรใช้เรื่องนี้เป็นจุดขายในการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ด้วย