พลิกโฉม กทม.  เล็งเดินเรือใน”เจ้าพระยา-ลำคลองต่างๆ  ตั้งเป้า 492 กม.

539

 

มาติดตามแผนการพัฒนาเส้นทางการเดินทาง สัญจรทางเรือ (W-Map) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล กันบ้าง ที่ล่าสุด สนข. เตรียมศึกษาการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองต่างๆ ระยะทางรวม 492 กิโลเมตร หวังเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทาง และให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เปิดเผยถึง การพัฒนาเส้นทางการเดินเรือ (W-Map) เพิ่มทางเลือกในการเดินทางของชาวกรุงเทพฯ ว่า การเดินทางทางน้ำเป็นรูปแบบการคมนาคมหนึ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานาน แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ได้เป็นรูปแบบการเดินทางหลักของประชาชนเทียบเท่าทางถนนหรือทางราง แต่ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์การเดินทางในช่วงเวลาที่การจราจรบนท้องถนนคับคั่งและติดขัดได้ดี สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. จึงได้ศึกษาหาแนวทางการพัฒนาการเดินทางทางน้ำให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางสำหรับชาวกรุงเทพฯ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรบนท้องถนน และยังสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะหลักหรือรถไฟฟ้าสายต่างๆ ได้อย่างสะดวก

การพัฒนาเส้นทางการเดินเรือ (W-Map) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของชาวกรุงเทพฯ/ที่มา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 

 

ปัจจุบัน เรือขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครมีเส้นทางเดินเรือให้บริการจำนวน 6 สาย ระยะทาง 79 กิโลมตร ได้แก่
1. แม่น้ำเจ้าพระยา : เส้นทางเรือด่วนเจ้าพระยา ปากเกร็ด – เอเชียทีค จำนวน 46 ท่า (กำลังก่อสร้างท่าเรือพระนั่งเกล้า) ระยะทาง 34.75 กิโลเมตร
2. คลองแสนแสบ : เส้นทางวัดศรีบุญเรือง – ผ่านฟ้าลีลาศ จำนวน 28 ท่า ระยะทาง 17.2 กิโลเมตร
3. คลองผดุงกรุงเกษม : เส้นทางสถานีรถไฟหัวลำโพง – ตลาดเทวราช จำนวน 11 ท่า ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร
4. คลองภาษีเจริญ : เส้นทางประตูน้ำภาษีเจริญ – เพชรเกษม 69 จำนวน 15 ท่า ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร
5. คลองบางกอกใหญ่ : เส้นทางบางหว้า – ท่าช้าง จำนวน 5 ท่า ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร
6. คลองประเวศบุรีรมย์ : เส้นทางพระโขนง – ตลาดเอี่ยมสมบัติ จำนวน 14 ท่า ระยะทาง 9 กิโลเมตร

สนข. ยังเตรียมศึกษาการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางทางน้ำ หรือ W-Map ซึ่งจะศึกษาการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองต่างๆ ระยะทางรวม 492 กิโลเมตร เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของชาวกรุงเทพฯ และให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นอกจากการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางแล้วแล้ว การพัฒนาท่าเรือและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการดึงดูดให้ผู้คนหันมาเดินทางด้วยเรือโดยสาร สนข. จึงได้ศึกษาแนวทางการปรับปรุงท่าเรือให้มีความสะดวกและปลอดภัย พร้อมรองรับการใช้งานจากผู้ใช้บริการ รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางน้ำกับระบบราง เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังศึกษาแนวทางการให้บริการเรือพลังงานไฟฟ้า (EV) ที่ทันสมัยและปลอดภัย มีความสะดวกสบาย ลดคลื่น ลดเสียง ลดมลภาวะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในระยะยาว และร่วมลดมลพิษจากภาคการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อีกด้วย

สนข.ระบุด้วยว่า การพัฒนาการเดินทางทางน้ำในกรุงเทพฯ จะทำให้มีความรวดเร็ว ตรงต่อเวลา มีมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมการเชื่อมโยงการเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลักได้อย่างสะดวก ทำให้การขนส่งทางน้ำเกิดการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เป็นทางเลือกสำคัญในการเดินทางของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลต่อไป

 

อย่างที่ทราบนะครับว่า ในอดีต กท. ได้ชื่อว่า เวนิสตะวันออก เพราะมีคลองเยอะ ปัจจุบันคลองในกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 1,161 คลอง และคูลำกระโดง จำนวน 521 คู รวมเป็น 1,682 คูคลอง ความยาว 2,604 กม. ดังนั้นหากสามารถฟื้นคู คลองเหล่านี้ให้สามารถกลับมาใช้ในการสัญจรได้เหมือนเดิม นอกจากจะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นแล้ว จะเพิ่มโอกาสในการแก้ปัญหาการจาจร ได้เป็นอย่างดี และแถมจะเป็นดึงดูดการท่องเที่ยวได้อีกด้วยครับ