อัพเดท! รถไฟทางคู่ของไทย -ปักหมุดศูนย์กลางอาเซียน

3075

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia มาติดตามความคืบหน้าการพัฒนารถไฟทางคู่ของไทย กันบ้าง ที่ล่าสุด สำนักงานนโยายและแผนการขนส่งและจราจร ได้สรุปความคืบหน้า การพัฒนารถไฟทางคู่ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นแกนหลักด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยได้ดำเนินการก่อสร้างทางคู่ระยะเร่งด่วน ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร โดยช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วน ในขณะที่อีก 5 เส้นทาง ก็มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการพัฒนาทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร และ การก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่ ระยะทาง 678 กิโลเมตร เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

19 ก.พ.64 ในเพจ สำนักงานนโยายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้เปิดเผยการเดินหน้าพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศว่า ถือได้ว่าเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญในการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางและขนส่งของประเทศไทยโดยให้ระบบรางเป็นแกนหลัก ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาแผนแม่บทและความเหมาะสมของรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ และผลักดันให้เกิดการเดินหน้าได้ตามที่ศึกษามาโดยตลอด

การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในด้านการพัฒนาและปฏิบัติการเดินรถ ได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามแผนงาน โดยได้ดำเนินการก่อสร้างทางคู่ระยะเร่งด่วน ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย 1. ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย 2. ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 3.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 4.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 5.ช่วงนครปฐม-หัวหิน 6.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ 7.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

ปัจจุบัน การก่อสร้างก็ได้ดำเนินการรุดหน้าไปอย่างเห็นเป็นรูปธรรม โดยช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่อีก 5 เส้นทาง ก็มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยสถานะแต่ละโครงการ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 บ้านกลับ-โคกกระเทียม มีความก้าวหน้า 43.42% และสัญญาที่ 2 ท่าแค-ปากน้ำโพ มีความก้าวหน้า 64.19% โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ แบ่งเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 มาบกะเบา-คลองขนานจิตร มีความก้าวหน้า 84.72% และสัญญาที่ 3 อุโมงค์รถไฟ มีความก้าวหน้า 61.376% โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 ขณะที่สัญญาที่ 2 คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ มีการปรับแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป

ช่วงนครปฐม-หัวหิน แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 นครปฐม-หนองปลาไหล มีความก้าวหน้า 81.016% และสัญญาที่ 2 หนองปลาไหล-หัวหิน มีความก้าวหน้า 80.117% โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 ส่วนช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มี 1 สัญญา โดยมีความก้าวหน้า 79.611% โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย มีความก้าวหน้า 72.236% และสัญญาที่ 2 บางสะพานน้อย-ชุมพร มีความก้าวหน้า 64.757% โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565

นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการพัฒนาทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 2.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 3.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 4.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 5.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 6.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 7.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการ

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร/ภาพ สำนักงานนโยายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.

 

รวมไปถึงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่ ระยะทาง 678 กิโลเมตร โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 2. ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

ที่ผ่านมา สนข. ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ และประสานการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการสำรวจพื้นที่และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการระดมความเห็นเพื่อ “ตกผลึก” เป็นข้อเสนอแนะต่อการวางแผนพัฒนาด้านการขนส่งและจราจร ก้าวข้ามปัญหาอุปสรรค และเพิ่มประสิทธิภาพโครงการอย่างมีส่วนร่วม จนเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม เพื่อให้รถไฟทางคู่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นระบบคมนาคมขนส่งทางไกลหลักของประเทศอย่างสมภาคภูมิต่อไป

 

รถไฟทางคู่ นับว่ามีความสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยอย่างมาก นอกจากจะช่วยในเรื่องการความสะดวกสบาย และรวดเร็วขึ้น ในการเดินทางแล้ว ก็ยังช่วยเสริมสร้างด้านระบบโลจิสติกส์ของไทย เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันของไทย ในภูมิภาคอาเซียน แข็งแกร่งขึ้น และจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง

หากเพื่อนๆ ชอบข่าวนี้ รบกวนกดติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ ด้วยครับ