อนุมัติแล้ว!”สายสีชมพู”ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี

722

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia มาติดตามข่าว โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานีกันบ้าง ที่ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ด้าน รัฐมนตรีว่าการรกระทรวงคมนาคม สั่ง รฟม.เตรียมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯเร็วๆนี้ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเดือน กันยายน 2567 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

9 ก.พ.64 มีรายงานว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ โดยให้ คค. ดำเนินการตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังว่า ได้มอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปจัดเตรียมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่งมีบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) เป็นผู้รับสัมปทานแล้ว คาดว่าจะสามารถลงนามในอีกไม่นานนี้

พร้อมระบุว่า ขณะนี้โครงการได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเดือน กันยายน 2567

โครงการส่วนต่อขยายสายสีชมพู นี้ มีระยะทางรวม 3 กิโลเมตร มี 2 สถานี แนวเส้นทางโครงการ เริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะเชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช (PK-10) ของโครงการส่วนหลัก เลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-01 และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-02

ตามแผนโครงการจะใช้เวลาก่อสร้าง 37 เดือน เปิดให้บริการ เดือนกันยายน 2567 วงเงินลงทุน 4,230.09 ล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี นอกจะมีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านนี้ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีผู้อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าต่างๆ แล้ว

ยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าของการการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าของไทยไปอีกระดับ นั่นคือ ไม่ใช่แค่ระดับการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าตามเส้นทางถนนหลัก แต่เป็นการพัฒนาไปถึงระดับสร้างเข้าซอยกันเลยที่เดียว

หากเพื่อนๆ ชอบข่าวนี้ รบกวนกดติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ ด้วยครับ