ก้าวอีกระดับ! “รถไฟฟ้า”เร่งลุยสร้างส่วนต่อขยายอีก 6 สาย

3002

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia มาติดตามโครงการรถไฟฟ้าของไทยทั้งระบบกันบ้าง ที่ล่าสุด กำลังก้าวไปอีกระดับนะครับ นั่นคือ การเตรียมสร้างส่วนต่อขยายของสายต่างๆ

โดยเรื่องนี้ สนข.ระบุ ว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดผลักดัน รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 6 สาย คือ สายสีแดง สายสีส้ม สายสีม่วง สายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีน้ำตาล ส่วนเส้นทางสายใหม่ รถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2564-2565 เรื่องนี้น่าสนใจ ไป ติดตามกันครับ

6 ก.พ.64 มีรายงานจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เปิดให้บริการแล้วจำนวน 6 สาย รวมระยะทาง 170.38 กิโลเมตร 124 สถานี และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 โครงการ ระยะทาง 128.96 กิโลเมตร 83 สถานี ซึ่งจะทำให้มี ระยะทางรวม 299.34 กิโลเมตร 207 สถานี จากแผนแม่บท M-Map ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่มี 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 509 กิโลเมตร 312 สถานี ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดผลักดันการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการส่วนต่อขยายสายสีแดง สายสีส้ม สายสีม่วง สายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีน้ำตาล ดังนี้

เส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล /ที่มา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

1.รถไฟฟ้าชานเมือง ส่วนต่อขยายสายสีแดง เป็นโครงข่ายสายหลักที่เน้นการให้บริการการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างพื้นที่ชานเมืองกับพื้นที่ใจกลางเมือง โดยจะต่อขยายจากศูนย์กลางเมือง ณ สถานีกลางบางซื่อ ไปทางทิศเหนือ (ย่านคลองหลวง ปทุมธานี) ทิศใต้ (ย่านบางบอน มหาชัย) ทิศตะวันออก (ย่านหัวหมาก ศรีนครินทร์) และทิศตะวันตก (ย่านศาลายา ศิริราช) จำนวน 4 เส้นทาง

ประกอบด้วย รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร 4 สถานี ผ่านย่านการศึกษาของปริมณฑล ด้านเหนือ คือ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต

รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. 6 สถานี และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กิโลเมตร 3 สถานี ผ่านพื้นที่สำคัญด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ เช่น โรงพยาบาลศิริราข และมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ระยะทาง 20.14 กิโลเมตร 6 สถานี และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กิโลเมตร 5 สถานี หรือเรียก 2 ช่วงนี้รวมกันว่า Missing Link ผ่านพื้นที่สำคัญเช่น สามเสน สวนจิตรลดา หัวลำโพง พญาไท มักกะสัน ศรีนครินทร์ และหัวหมาก โดยทั้ง 3 โครงการนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการ (Public-Private Partnership : PPP)

ส่วนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ระยะทางประมาณ 37 กิโลเมตร 17 สถานี โดยใช้แนวเส้นทางรถไฟสายแม่กลอง ผ่านพื้นที่สำคัญเช่น คลองสาน วงเวียนใหญ่ ตลาดพลู บางบอน และมหาชัย โดยอยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณ 2565 เพื่อทบทวนรายละเอียด

2.รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ เป็นระบบขนส่งมวลชนสายหลักตามแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยต่อขยายจากศูนย์วัฒนธรรมฯ ผ่านย่านดินแดง ประตูน้ำ หลานหลวง เกาะรัตนโกสินทร์ ศิริราช และสิ้นสุดที่แยกบางขุนนนท์ เชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินและสายสีแดง ระยะทางประมาณ 13.40 กิโลเมตร 11 สถานี ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคาก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569

3.รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เป็นระบบขนส่งมวลชนหลักในแนวทิศเหนือและทิศใต้ โดยต่อขยายจากเตาปูน ผ่านรัฐสภา หอสมุดแห่งชาติ เกาะรัตนโกสินทร์ วงเวียนใหญ่ ดาวคะนอง ราษฎร์บูรณะ พระประแดง และครุใน ระยะทางประมาณ 23.60 กิโลเมตร 17 สถานี โดยโครงการอยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคาก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570

4.รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 เป็นเส้นทางส่วนต่อขยายจากสถานีหลักสองไปตามแนวถนนเพชรเกษม จนถึงพุทธมณฑลสาย 4 ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร 4 สถานี โดยโครงการจะพัฒนาภายในปี 2572

5.รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว แบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงคูคต-ลำลูกกา และช่วงสมุทรปราการ-บางปู เป็นเส้นทางส่วนต่อขยายไปยังทิศเหนือตามแนวถนนลำลูกกา จนถึงถนนวงแหวนรอบนอก และด้านทิศตะวันออกตามแนวถนนสุขุมวิท ในย่านสำโรง บางปู โดยช่วงคูคต-ลำลูกกา มีระยะทาง 6.50 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี และช่วงสมุทรปราการ-บางปู มีระยะทาง 9.50 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี โดยโครงการจะพัฒนาภายในปี 2572
6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโดย สนข. เพิ่มเติมจาก M-Map เดิม เป็นโครงข่ายสายรองที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-Map 2 : ซึ่ง สนข. ร่วมกับ กรมการขนส่งทางรางและองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JICA ได้ทำการศึกษา) โดยโครงการเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล เป็นโครงสร้างยกระดับตามแนวถนนงามวงศ์วานและถนนประเสริฐมนูกิจ มีระยะทาง 22.10 กิโลเมตร 20 สถานี โดยโครงการอยู่ระหว่างเตรียมการร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการ (Public-Private Partnership : PPP) โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568


ทั้งนี้ ในส่วนของรถไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร ตามข้อกำหนดของ M-Map นั้นประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-ท่าพระ ระยะทาง 39.91 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.30 กิโลเมตร 15 สถานี ภายในปี 2564-2565 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร ระยะทาง 9.50 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนความเหมาะสมของโครงการ รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีทอง (ช่วงคลองสาน-ประชาธิปก ระยะทาง 0.92 กิโลเมตร) ซึ่งจะดำเนินการในระยะถัดไป
นอกจากนี้ ยังมีส่วนต่อขยายของสายสีชมพู (ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร) และส่วนต่อขยายสายสีเหลือง (ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.60 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายเพิ่มเติมที่ภาคเอกชนผู้รับสัมปทานโครงการเสนอ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการในระยะถัดไปเช่นกัน


จากการพัฒนารถไฟฟ้าหลากสี ทำให้ในอนาคตเราจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึง 14 สายทาง ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางในพื้นที่ต่างๆ เชื่อมโยงถึงกันอย่างสะดวก รวดเร็ว สามารถกำหนดเวลาได้ ประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสนับสนุนการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ส่งเสริมการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

ครับดูอย่างนี้แล้ว หากโครงการการเสร็จทั้งระบบเมื่อไหร่ ประเทศจะไปยืนอยู่ระดับหัวแถวของโลกของประเทศผู้ให้การบริการรถไฟฟ้า ในทันที