เห็นชอบแล้ว EIA รถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายฯ

580

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia มาติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายช่วงแยกรัชดา – ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน กันบ้าง ที่ล่าสุด คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว

ส่วนความคืบหน้าโครงการขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาระหว่าง รฟม. และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในประเด็น การชดเชยรายได้หากสายสีเหลืองส่วนต่อขยายมีผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารของสายสีน้ำเงิน

แต่ บีทีเอส ซึ่งจะดำเนินโครงการ สายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ยังไม่รับเงื่อนไขของ รฟม.ที่จะให้ระบุไว้ในสัญญา แต่หากโครงนี้เดินหน้าและสายสีเหลืองเปิดเต็มรูปแบบเดือน ก.ค. 2565 จะสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนอย่างมาก เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

25 ม.ค. 64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ VDO conference ที่ประชุมได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จำนวน 4 โครงการ โดย 1 ในนั้นคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา – ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.เพื่อช่วยประหยัดระยะเวลาในการเชื่อมต่อระบบการเดินทางจากเดิมที่ต้องเชื่อมต่อ 2 ครั้ง (สายสีเหลือง – สายสีน้ำเงิน – สายสีเขียว)

อีกทั้งยังสามารถเพิ่มศักยภาพการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายรถไฟฟ้าและการเดินทางภายในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น

รถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายช่วงแยกรัชดา – ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน มีระยะทาง 2.6 กม. โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์-บมจ.ซิโน-ไทยฯ-บมจ.ราชกรุ๊ป) รับสัมปทาน 33 ปี ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เสนอลงทุนเพิ่มวงเงิน 3,779 ล้านบาท

แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีลาดพร้าวที่จะเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินและสายสีเหลืองตามแนวถนนรัชดาฯ ผ่านศาลอาญา ม.ราชภัฏจันทรเกษม เชื่อมแยกรัชโยธิน ระหว่างสถานีพหลโยธิน 24 กับสถานีรัชโยธิน ของสายสีเขียวหมอชิต-คูคต

ซึ่งหากสายสีเหลืองเปิดเต็มรูปแบบเดือน ก.ค. 2565 จะเป็นอีกเส้นทางที่น่าสนใจชองการเดินทางในย่านนี้

ก่อนหน้านี้มีรายงานความคืบหน้า กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่าง รฟม. และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในประเด็น การชดเชยรายได้หากสายสีเหลืองส่วนต่อขยายมีผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารของสายสีน้ำเงิน แต่ บีทีเอสยังไม่รับเงื่อนไขของ รฟม.ที่จะให้ระบุไว้ในสัญญา
โดย BTS ระบุว่า ผลกระทบต่อผู้โดยสารสายสีน้ำเงินนั้น อาจมาจากหลายปัจจัยก็ได้ เช่น พฤติกรรมการเดินทางของคนเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาได้ข้อยุติทั้งหมดแล้ว รฟม. จะดำเนินการเสนอขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

การเชื่อมต่อระบบรางที่ทั่วถึงจะจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง ลดปัญหาการจราจร ทางผู้ประกอบการเอง ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระยาว ต้องคิดกันยาวๆ คิดสั้นๆ โครงการดีๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ครับ

หากเพื่อนๆ เห็นว่าข่าวนี้มีประโยชน์ รบกวนกดติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ ด้วยครับ

 

ติดดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Website https://www.1one.asia/
ช่องทาง Social Media
Facebook : https://www.facebook.com/1one2018asia
youtube:1one