สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia มาติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก กันบ้าง ที่ล่าสุด สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมากถึงคลองบ้านม้า ที่ดำเนินการโดย บมจ. อิตาเลียนไทย ได้ทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์จากสถานีแยกลำสาลี ไปยังสถานีหัวหมาก (OR19) ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดการเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ส่วนภาพรวมงานโยธาทั้งโครงการคืบหน้าแล้ว 74.37% เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
เมื่อ 6 มกราคม 2564 มีรายงานว่า บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมากถึงคลองบ้านม้า ได้มีการทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิริมงคล เป็นขวัญและกำลังใจให้พนักงานที่ปฏิบัติงาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ก่อนเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ (ช่วงสุดท้าย) จากสถานีแยกลำสาลี (OR20) ไปยังสถานีหัวหมาก (OR19) ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดการเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก)
โดยมีกำหนดเจาะอุโมงค์ออกจากสถานีแยกลำสาลี ในวันที่ 7 มกราคม 2564 และมีแผนจะไปถึงปลายทางที่สถานีหัวหมากในต้นเดือน มีนาคม 2564 นี้
ส่วนความคืบหน้างานโยธาทั้งโครงการ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 จากเพจ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี เปิดเผยว่า ภาพรวมคืบหน้า 74.37% โดยแบ่งเป็น
1.งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – รามคําแหง 12 ความคืบหน้า 84.07 %
2.งานก่อสร้างอุโมงทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคําแหง 12 – หัวหมาก คืบหน้า 71.14 %
3.งานก่อสร้างทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก -คลองบ้านม้า 73.00%
4.งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า – สุวินทวงศ์ 63.56 %
5.งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบํารุง และอาคารจอดแล้วจร 77.22%
และ 6.งานก่อสร้างระบบราง 71.27%
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก มีระยะทางรวม 22.57 กิโลเมตร โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) ไปสิ้นสุดที่จุดตัดกับถนนสุวินทวงศ์บริเวณแยกมีนบุรี
เส้นทางนี้ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2567
ซึ่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือเส้นทางตะวันตกช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเส้นทางตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – แยกสุวินทวงศ์ คาดว่าจะเปิดใช้งานได้อย่างเป็นทางการครบทั้งสายภายใน พ.ศ. 2570
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นอีกเส้นทางสำคัญ เพราะเป็นแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก – ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร หากแล้วเสร็จจะเป็นการยกระดับระบบการคมนาคมของกรุงเทพมหานครไปอีกขั้น อีกทั้งจะมีองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมงานโยธาในการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้ายกระดับอย่างมหาศาลครับ
หากเพื่อนๆ เห็นว่า ข่าวนี้มีประโยชน์รบกวนกดติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ ด้วยครับ