เล็งสร้าง”ฐานปล่อยจรวด”นราธิวาส ยันที่ตั้งดีที่สุด 1 ใน 7 ของโลก

1116

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าเรื่องแผนพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทยกันต่อ ที่ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลั่นใช้งบฯแค่ 3,000 ล้านบาท สำหรับแผนส่งยานอวกาศ โคจรรอบดวงจันทร์

พร้อมระบุว่า ภายในอีก 4-5 ปี จากนี้ไป ประเทศไทยจะทำดาวเทียมระดับ 50-100 กิโลกรัม และหลังจากนั้นอีก 3 ปี จะมีการพัฒนาดาวเทียมที่โคจรรอบโลก เป็นยานอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์

โดยก่อนหน้านี้ระบุว่า เล็งสร้างสถานีปล่อยจรวดที่ นราธิวาส หลังพบเป็นพื้นที่ดีที่สุด 1 ใน 7 แห่งของโลก โดยได้ให้ GISTDA ทำข้อมูลและรายละเอียดอย่างรอบคอบแล้ว เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดแถลงข่าวสรุปผลงานเด่น ปี 2563 โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อาจกล่าวได้ว่าปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความสำเร็จของ อว. ด้วยการนำวิทยาการต่าง ๆ มาพัฒนาประเทศไทย

โดยในปีนี้ผลงานที่โดดเด่นของ อว.ที่สำคัญ คือ การทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่จัดการด้านการรับมือโควิด-19 ดีที่สุดในโลก และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งคือประเทศไทยสามารถคิดค้นและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้ถึง 2 ตัวได้แก่ วัคซีน mRNA เทคโนโลยีใหม่ยังไม่เคยใช้ในมนุษย์ใช้แบบเดียวกันกับบริษัทยายักษ์ใหญ่ต่างชาติ ไฟเซอร์ และบริษัท โมเดอร์นา

ซึ่งขณะนี้เราจะเริ่มสามารถที่ทดลองในมนุษย์ในอีกไม่กี่เดือนนี้ และ ล่าสุดคือการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ โดย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามนโยบายของ อว. พร้อมก้าวไปอีกขั้นในการผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

ดร.เอนก กล่าวว่า อีกผลงานคือเทคโนโลยีอวกาศ ภายในอีก 4-5 ปี จากนี้ไป ประเทศไทยจะทำดาวเทียมระดับ 50-100 กิโลกรัม และหลังจากนั้นอีก 3 ปี จะมีการพัฒนาดาวเทียมที่โคจรรอบโลกเป็นยานอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์ ยานอวกาศดังกล่าวจะถูกเร่งความเร็วเพื่อเพิ่มวงโคจรไปจนกระทั่งถึงดวงจันทร์ ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ปี และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ ส่วนหนึ่งของการขยายความสามารถทางอวกาศเพราะปัจจุบันโลกกำลังพูดถึงเศรษฐกิจอวกาศ

และจะเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศไทยกำลังจะสร้างวิธีคิดใหม่ ว่าเราสามารถทำได้ ถือเป็นความสำเร็จของวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ คาดว่าจะใช้งบประมาณเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น

พร้อมระบุว่า ในทุกปัญหาและวิกฤติย่อมก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำประเทศฝ่าวิกฤติ ทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น และกระทรวง อว.ยังคงเดินหน้าในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง

เกี่ยวกับเรื่องแผนพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทยนั้น เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า การพัฒนาด้านอวกาศจะทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาและเติบโตขึ้น โดยเฉพาะ spaceport หรือท่าอวกาศยาน สำหรับเป็นเป็นฐานยิงจรวด ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ และยังเป็นจุดสำหรับรับจรวด รับดาวเทียมกลับสู่โลกด้วย

ดร.เอนก บอกอีกว่า สำหรับพื้นที่ ที่มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอวกาศยาน คือ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ และเหมาะสมเป็น 1 ใน 7 ของโลก เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ใกล้ทะเลทั้ง 2 ฝั่งคือ อ่าวไทยและอันดามัน ทั้งนี้ตนเองได้ให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA หรือ จัดทำข้อมูลและรายละเอียดอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

พร้อมกันนี้ ดร.เอนก บอกอีกว่า การสร้าง spaceport หรือ สถานียิงจรวดหรือดาวเทียมนี้ ยังสามารถดึงดูดคนเก่งทั่วโลก มาที่นี่ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจด้านอวกาศในประเทศ และยังสร้างรายได้เข้าประเทศ มีการจ้างงาน อีกด้วย อีกทั้งจะเกิดอุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และที่ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี เพราะต้องการให้ประเทศมีรายได้สูงขึ้น

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ได้กล่าวไว้ในการจัดเสวนาเรื่อง “เทคโนโลยีอวกาศสู่การพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน”เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ว่า “ท่าอวกาศยาน” ซึ่งเป็นฐานปล่อยจรวดสู่ห้วงอวกาศ หากประเทศไทยมีท่าอวกาศยานเป็นของเราเอง นอกจากจะสร้างรายได้ทางตรงแล้ว ยังเกิดอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องตามมา รวมทั้งยังข้ามไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างเช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น

การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างองค์ความรู้ของคนไทยเอง ซึ่งจะเป็นการยกระดับขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทย หนี้กำดับรายได้ระดับกลาง และสร้างศักดิ์ศรีของประเทศในสายตาต่างชาติ ซึ่งห้วงเวลานี้เหมาะสมที่สุด

นอกจากประเทศไทย จะมีชัยภูมิที่ดีติด 1ใน 7ของโลกแล้ว บุคคลากร ที่จบการศึกษาด้านนี้หลายท่านก็ได้เดินทางกลับมาแล้ว ในขณะเดียวกันมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่เคยทำงานให้กับองค์การนาซา หรือองค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติ เช่น ดร. ก้องภพ อยู่เย็น ,ดร.อาจองค์ ชุมสาย ,ดร.พีรวรรณ วิวัฒนานนท์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานอย่างดี ในการที่จะเริ่มต้นการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย

ซึ่งจะสามารถเริ่มต้นได้เลย โดยไม่จำเป็นรอทำถนนราดยางให้หมดก่อน

หากเพื่อนๆ เห็นว่า ข่าวนี้มีประโยชน์ รบกดถูกติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ด้วยครับ