สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia มาติดตามการเดินหน้าอุตสาหกรรมระบบรางไทยของไทยกันบ้าง ที่ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง พร้อมหน่วยงานต่างๆ รวม 15 หน่วยงาน ที่รวมตัวภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พันธมิตรระบบราง สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย” ได้มีการหารือ ครั้งที่ 1/2563 เพื่อดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการดำเนินงานในปี 2564 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
22 ธ.ค. 2563 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วม (Steering Committee) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พันธมิตรระบบราง สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย” ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องนิทรรศการ บ้านปาร์คนายเลิศ ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวรวม 15 หน่วยงาน ประกอบด้วย
– 1 สภา ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
– 3 หน่วยงานระดับกรม ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
– 2 สถาบันวิจัย ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
– 3 ผู้ใช้งาน ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
– 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนสภาวิศวกรและผู้แทนหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เข้าร่วมประชุมให้ความเห็นด้วย
โดยการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ 15 หน่วยงานนั้น เป็นความร่วมมือกันด้านวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา การจัดทำมาตรฐานการทดสอบและทดลอง และการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการประกอบรถไฟ การผลิตชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานด้านระบบรางในประเทศ รวมทั้งผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบรางของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ใน 5 ด้าน ได้แก่
1. การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา (Technology Transfer Research & Development)
2. มาตรฐานระบบราง (Railway Standard)
3. อุตสาหกรรมระบบราง (Rail Industry)
4. การทดสอบและการทดลอง (Testing and Laboratory)
5. การพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource Development)
ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมการประกอบรถไฟ การผลิตชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานด้านระบบรางในประเทศที่ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการของหน่วยงานทั้ง 15 หน่วยงานในการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบรางในด้านต่างๆเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการรับทราบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง พ.ศ. …. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันที่จะสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางดังกล่าว รวมทั้งได้ร่วมกันหารือในประเด็นความร่วมมือตามความเชี่ยวชาญหรือความสนใจของแต่ละหน่วยงานใน 5 ด้าน ตามที่กล่าวมาข้างต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานจัดทำข้อมูลโครงการที่จะดำเนินการในปี 2564 ส่งให้กรมการขนส่งทางราง เพื่อดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการดำเนินงานในปี 2564 ต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
การพัฒนาระบบรางของไทยมีการพัฒนาได้เร็วมาก โดยเฉพาะรถไฟฟ้า แม้เราจะเพิ่งเริ่มต้นจริงๆจังๆ เมื่อราว 20 ปีก่อน แต่เราสามารถไปรับเหมาะงานในต่างประเทศได้แล้ว เช่น กรณีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ไปรับเหมาโครงการรถไฟฟ้านครธาก้า บังคลาเทศ ,การก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมือง คล๊าก-คัมบาล่า (Clark–Calamba)ของฟิลิปปินส์ และ โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินในอินเดีย
ดังนั้นแล้วกรมการขนส่งทางราง ช่วยเร่งมมือหน่อย เพื่อว่าต่อไป นอกจากบริษัทไทย จะไปรับเหมาก่อสร้างด้านโยธาโครงการรถไฟฟ้าแล้ว บริษัทคนไทย อาจจะได้ขายขบวนรถไฟฟ้า รถไฟ งานระบบราง ระบบไฟฟ้า เครื่องกล ระบบอาณัติสัญญาณ หรือ จัดฝึกอบรมบุคลากรให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ และสร้างงานได้อย่างมหาศาล
ซึ่งหากทำได้อย่างนี้ นอกจากจะพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นการยกระดับประเทศไปอีกระดับ หรือ อาจจะถึงระดับประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อถึงตอนนั้นอย่าว่าแต่ส่งยานไปดวงจันทร์เลย ไปดาวอังคาร คนไทยก็สามารถทำได้ ครับ
หากเพื่อนๆเห็นว่า ข่าวนี้มีประโยชน์รบกวนกดติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ ด้วยครับ