ลงนามบริษัทจีนศึกษา”ขุดคลองไทย” ลั่นจะใหญ่และกว้างที่สุดในโลก

926

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia นะครับ วันนี้มาติดตามความคืบหน้าโครงการขุดคลองไทยนะครับ ที่ล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย ได้ลงนาม MOU กับบริษัทของจีน เพื่อดำเนินการศึกษาคลองไทย โดยบริษัทจีนมีความมั่นใจในการร่วมมือศึกษาคลองไทยในครั้งนี้ ด้านประธานคณะกรรมาธิการฯ ลั่นเตรียมลงนามเอกชนอีก 30 บริษัท พร้อมระบุคลองไทย จะใหญ่และกว้างที่สุดในโลก และสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำได้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดกันครับ

เมื่อ 9 ธ.ค.2563 ที่รัฐสภา ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดย พลตรีทรงกลด ทิพยรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กับ GRAND DRAGON INTERNATIONAL HOLDINGS COMPANY LIMITED เพื่อดำเนินการศึกษาคลองไทยภายใต้ขอบเขตบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย ภูมิภาค และของโลกตลอดไป

โดยพลตรีทรงกลด ทิพยรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ บอกว่า จะเป็นก้าวแรกไปสู่การขุดคลองไทย และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยครั้งต่อไปจะเซ็น mou ที่เมืองทองธานี และจะมีบริษัทเอกชน 30 บริษัท เข้าร่วม พร้อมกันนี้จะเชิญทูตต่างประเทศ สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมด้วย

ประธานคณะกรรมาธิการฯ ระบุด้วยว่า ถือเป็นอนาคตเประเทศและคนไทยจะได้ประโยชน์ ในโลกนี้มีคลองที่ขุดได้มีแค่ 7 คลองเท่านั้น แต่คลองไทยจะเป็นคลองที่ใหญ่ที่สุดในโลก กว้างที่สุดในโลก เป็นคลองไทยที่ดีที่สุดในโลก เพราะว่าสามารถรองรับเรือทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น เรือในวันนี้หรืออนาคต กินน้ำลึกแค่ไหน ก็มาผ่านคลองไทยได้หมด

พลตรีทรงกลด ยังชี้ว่า เศรษฐกิจโลกตกต่ำอย่างนี้มันแก้ไม่ได้ เพราะประเทศไม่สามารถหวังเงินจากภาษี นำแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำได้ ไม่มีทาง มองว่าแก้ไม่ได้ ดังนั้นต้องหารายได้อื่นมองว่าคลองไทย สามารถแก้ปัญหานี้ได้

สำหรับ บริษัท GRAND DRAGON INTERNATIONAL HOLDINGS COMPANY LIMITED จดทะเบียนในฮ่องกง และมีบริษัทแม่อยู่ในประเทศจีน ลงทุนด้านสาธารณูปโภคในจีน มีประสบการณ์ด้านก่อสร้างสนามบิน และพัฒนาท่าเรือ โดยนายเกา เกิงเฉิน ตัวแทนบริษัท GRAND DRAGON INTERNATIONAL HOLDINGS COMPANY LIMITED ยืนยันว่า บริษัทมีความมั่นใจในการร่วมมือศึกษาคลองไทยให้ได้ผลดี

สำหรับคลองไทย จะเชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อเป็นช่องทางสัญจรทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดของคลองไทยคือ เส้น 9A ที่ผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีความยาว 135 กม. ความกว้างประมาณ 400 เมตร ความลึกประมาณ 30 เมตร นอกจากนี้ ต้องขุดร่องน้ำลึกประมาณ 30 เมตร โดยฝั่งอันดามันขุดห่างออกจากฝั่งไปประมาณ 30-40 กิโลเมตร ส่วนฝั่งอ่าวไทยประมาณ 50-55 กิโลเมตร

จากข้อมูลการศึกษาก่อนหน้านี้ ของ รศ.ดร. สถาพร เขียววิมล นักวิชาการ ระบุว่า หากมีคลองไทยเกิดขึ้นจะทำให้ประเทศต่าง ๆทั้งสองฝั่งทะเลของประเทศไทยได้มีเส้นทางลัดเดินเรือทะเลระหว่างประเทศ ที่สามารถย่นระยะทางได้ 2,000 – 2,500 กิโลเมตรต่อเที่ยว ในการขนส่งสินค้าต่างๆ ไปมาในระหว่างกลุ่มประเทศในเอเชียอาคเนย์ด้วยกันเอง

นอกจากจะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ยังปลอดภัยจากปัญหาโจรสลัด เพราะไม่ต้องอ้อมผ่านเข้าช่องแคบมะละกา ตัวอย่างเช่น เรือขนสินค้าจากประเทศอินเดียถ้าจะส่งสินค้าไปยังประเทศจีน สามารถไปถึงประเทศจีนได้โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา และยังย่นระยะเวลาเดินเรือได้ถึง 4 – 5 วัน ถ้าใช้เรือขนาดใหญ่ขนาดแสนตันขนส่งสินค้าแต่ละเที่ยวจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 100 ล้านบาทต่อเที่ยว

ปัจจุบันเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มาทางฝั่งทะเลอันดามันของไทย จะเป็นเรือต่างๆ ที่มาจากยุโรปหรือตะวันออกกลาง และจะไปยังด้านฝั่งอ่าวไทย มุ่งหน้าไปประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี ฯลฯ ปัจจุบันมีเส้นทางเดินเรือ 3 เส้นทางหลัก คือ (1) เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา (Malacca) (2) เส้นทางผ่านช่องแคบซุนด้า (Sunda) และ (3) เส้นทางผ่านช่องแคบลอมบ็อค (Lombok) จากเส้นทางเดินเรือดังกล่าวจะมีเรือผ่านไปมา ประมาณกว่า 1,200 – 1,400 ลำต่อวัน (ประมาณ 520,000 ลำต่อปี) และมีเรือที่แวะใช้บริการท่าเรือ ที่ท่าเรือประเทศสิงคโปร์ประมาณกว่า 600 ลำต่อวัน ซึ่งหนาแน่นมาก ในปัจจุบันมีอุบัติเหตุเฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อเดือน

และยังมีเรืออีกจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านที่ช่องแคบมะละกา ก็เนื่องจากความลึกของร่องน้ำบริเวณช่องแคบมะละกาตื้น โดยเฉพาะบริเวณที่จะผ่านประเทศสิงคโปร์มีความลึกเพียง 20 เมตร และยังมีซากเรือที่จมหรือสิ่งของต่างๆ ทับถมจมขวางอยู่ใต้ร่องน้ำท้องทะเลที่เรือผ่าน เรือขนาดใหญ่จึงไม่สามารถผ่านได้ ต้องแล่นเรืออ้อมเข้าผ่านเส้นทางช่องแคบซุนด้าและเส้นทางช่องแคบลอมบ็อค จากแผนที่โลกจะเห็นว่า เส้นทางที่ผ่านช่องแคบมะละกาจะเป็นเส้นทางที่มีระยะสั้นที่สุดสำหรับเส้นทางเดินเรือในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับส้นทางช่องแคบซุนด้าและเส้นทางช่องแคบลอมบ็อค

หากประเทศไทยสร้างโครงการคลองไทย ได้สำเร็จจะทำให้เกิดเส้นทางเดินเรือโลกเส้นทางใหม่ เรือต่างๆ จากประเทศในทวีปยุโรปและจากทางประเทศตะวันออกกลางจะแล่นตรงมายังฝั่งอันดามัน ข้ามคลองไทยมายังฝั่งอ่าวไทยที่จะไปยังประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไต้หวัน ประเทศเกาหลีใต้ ฯลฯ ได้โดยไม่ต้องอ้อมไปยังช่องแคบทั้ง 3 ดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังดูห่างไกลความจริง เนื่องจาก
ขณะนี้กระทรวงคมนาคม กำลังทำการศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ระหว่างท่าเรือจังหวัดชุมพรกับท่าเรือจังหวัดระนอง ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร คาดว่าจะช่วยย่นเวลาเดินทางของเรือสินค้าจากเส้นทางปกติได้กว่า 2 วัน

โดยจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี ศึกษาแล้วจะสามารถเริ่มโครงการได้ภายใน 2 ปีครึ่ง จากแผนจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ที่จังหวัดชุมพรและระนอง เชื่อมต่อกันด้วยการสร้างเส้นทางขนส่งทางบก โดยมีทั้งรถไฟทางคู่ และทางหลวงพิเศษ(มอเตอร์เวย์) ซึ่งจะทำให้เรือสินค้าที่ใช้เส้นทางปกติ หันมาขนส่งเส้นทางนี้แทน

อย่างไรก็ตามโครงการคลองไทย ยังมีความเห็นที่ยังไม่มีข้อยุติ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปครับ