ลุยเต็มสูบ! เคาะจัดตั้งสถาบันวิจัย-เทคโนโลยีพัฒนาระบบราง

358

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กันบ้าง ที่ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. ซึ่งนับว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมรางของไทย เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของ อว. สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา คือ กำหนดให้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สทร.” และให้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Rail Technology Development Agency (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า “RTDA”เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีระบบรางในการวางแผนวิจัยด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเสนอแนะนโยบายและแผนงานในการกำหนดทิศทางงานวิจัย การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบการทดสอบและทดลอง รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบราง โดยมีคณะกรรมการสถาบันทำหน้าที่วางนโยบายกำหนดกฎ ระเบียบ และกำกับดูแล รายละเอียดดังนี้
1. กำหนดนิยามคำว่า “เทคโนโลยีระบบราง” “สถาบัน” “คณะกรรมการ” “กรรมการ” “ผู้อำนวยการ” และ “เจ้าหน้าที่” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้
2. กำหนดให้สถาบันมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีระบบรางในการวางแผนวิจัยด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเสนอแนะนโยบายและแผนงานในการกำหนดทิศทางงานวิจัย การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบการทดสอบและทดลอง รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบราง วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งทางราง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมมือกับองค์กรในประเทศและต่างประเทศด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง
3. กำหนดทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสถาบันประกอบด้วยเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนจากเอกชน ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินกิจการ รวมถึงดอกผลหรือรายได้จากทรัพย์สินของสถาบัน
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการสถาบัน ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 4 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 5 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยมีผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง
5. กำหนดให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
6. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลสถาบันให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมถึงกำหนดนโยบายการบริหารงาน การจัดหาทุน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสถาบัน อนุมัติงบประมาณประจำปี งบการเงิน แผนการลงทุน และการดำเนินโครงการตามที่คณะกรรมการกำหนด ออกระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด หรือประกาศเกี่ยวกับสถาบัน และให้ความเห็นชอบในการกำหนดค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน และค่าบริการในการดำเนินกิจการของสถาบัน
7. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผลงาน โดยกำหนดให้การบัญชีของสถาบันให้จัดทำตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และต้องจัดให้มี การตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีและการพัสดุของสถาบัน และให้ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันทำหน้าที่ เป็นผู้ตรวจสอบภายในให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตามที่กำหนด และการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน และลงโทษวินัยของผู้ตรวจสอบภายใน ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาร่วมกันแล้วเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ
8. กำหนดบทเฉพาะกาล ในวาระเริ่มแรก ให้มีคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสถาบัน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้แทน คค. และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสามคน เป็นกรรมการ และให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
การพัฒนาระบบรางของไทยมาถูกทางแล้ว การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) นอกจากจะทำให้การทำงานมีความคล่องตัว และมีงานวิจัยรองรับการเดินหน้าแผนงานแล้ว ยังเป็นการเร่งให้แผนการพัฒนาอุตสหกรรมระบบรางของไทยก้าวหน้าเร็วขึ้นครับ