โครงการ “รถไฟความเร็วสูงสายใต้”ถึงเวลาต้องสร้าง??

1573

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้เรามาติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย โดยเฉพาะสายใต้กันบ้าง ซึ่งตามแผนของการรถไฟนั้น โครงการรถรถไฟความเร็วสูงสายใต้ จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วง กรุงเทพ – หัวหิน แผนเปิดใช้งาน พ.ศ. 2575 และ ช่วง หัวหิน – สุราษฎร์ธานี – ปาดังเบซาร์ ยังไม่มีกำหนดสร้าง

โดย สนข. ได้เคยศึกษา โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ล่าสุดเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างไร

แต่อย่างไรก็ตามจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากโควิด19 รัฐบาลมีแผนการกระคุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการส่วนหนึ่งคือ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้ จึงเป็นอีกโครงการที่แอดมิน เห็นว่า รัฐบาลน่าจะหยิบมาพูดถึง เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นการสร้างงานแล้ว ก็ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของไทยในอนาคตด้วย

แต่ถึงกระนั้นตาม เรื่องนี้อาจจะมีผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างกันไป ดังนั้นแอดมิน จะหยิบยกเรื่องมาเป็นหัวข้อถกเถียงกันของผู้สนใจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโดยรวมของประเทศ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

รัฐบาลไทยได้เริ่มวางแผนเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนารถไฟความเร็วสูงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แต่ทุกอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมา เมื่อไม่นานมานี้เอง นั่นคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ระยะทาง: 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท ที่ลงมือก่อสร้างแล้ว ตามข่าวที่ทุกท่านทราบกัน โดยคาดว่าจะเปิดใช้งาน พ.ศ. 2568

และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ที่เซ็นสัญญาร่วมทุน รัฐและเอกชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเคลียร์พื้นที่คาดว่า ปีหน้าราวเดือนมีนาคม จะส่งมอบพื้นที่เรียบร้อย และเดินหน้าก่อสร้างแบบเต็มสูบ และตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

ก็เหลือสายเหนือสายใต้ละครับ ที่จะต้องลุ้นกันต่อไป

สำหรับสายเหนือแอดมิน ได้เคยนำเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้ และจะเสนอเพิ่มเติมในโอกาสต่อไปอีกให้รอติดตามกันต่อไป ดังนั้นวันนี้จะมาดูในช่วงของสายใต้กันบ้าง

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้ จะเริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ — สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ระยะทาง: 970 กิโลเมตร จะใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง 54 นาที

โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วง กรุงเทพ – หัวหิน ระยะทาง: 205 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน: ประมาณ 90,000 ล้านบาท คาดเปิดใช้งาน: พ.ศ. 2575
2.ช่วง หัวหิน – สุราษฎร์ธานี – ปาดังเบซาร์ ระยะทาง: 765 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน: ยังไม่กำหนด โดยปัจจุบัน กำลังนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การเปิดใช้งานยังไม่กำหนด แต่อย่างไร

ทั้งนี้ จากเอกสาร โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ระบุว่า ผลการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ–หัวหิน โดยมีการศึกษาความเหมาะสมตลอดเส้นทางรถไฟสายใต้ ช่วงกรุงเทพฯ–ปาดังเบซาร์ มีผลการศึกษาที่สอดคล้องตามหลักการทฤษฎีระยะทางที่เหมาะสมต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก กล่าวคือ สมควรจะมีระยะทางระหว่าง 250–750 กิโลเมตร จึงจะมีความเหมาะสมต่อการดำเนินการ

โดยมีความสมดุลระหว่างความเร็วที่สามารถแข่งขันกับการเดินทางโดยเครื่องบินได้ และมีระยะทางที่เหมาะสมต่อการโดยสารสาธารณะแข่งขันกับการเดินทางในระบบรถยนต์หรือทางถนนได้
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมในเส้นทางทางนี้ก็เช่นกัน จะพบว่ามีความเหมาะสมในการดำเนินการท้ังในส่วนของด้าน “อัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ หรือ EIRR

และ อัตราผลตอบแทนภายในทางการเงินของเงินลงทุน การคำนวณค่าอัตราผลตอบแทนภายในทางเศรษฐศาสตร์ของการลงทุน หรือ FIRR ในช่วงการดำเนินการระหว่างกรุงเทพฯ–สุราษฎร์ธานี (ระยะทาง 635 กิโลเมตร) เป็นต้นไป

ดังนั้น การออกแบบในเชิงวิศวกรรมและการเตรียมการลงทุนก่อสร้างในช่วงกรุงเทพ–หัวหิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางรถไฟสู่เส้นทางสายใต้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ สอดคล้องกับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ทั่วไปที่จะต้องมีการดำเนินงานก่อสร้างแบ่งเป็นช่วง ๆ และเป็นระยะเช่นเดียวกันกับการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศ

พร้อมเสนอว่า กรมการขนส่งทางราง ทำหน้าที่ในการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ส่วนด้านการบริหารสถานีและจัดการเดินรถนั้น ควรเป็นองค์กรที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรืออาจจัดตั้งในรูปแบบบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนที่ได้รับสัมปทานก่อสร้างให้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือร่วมกับเอกชนรายใดๆ ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ของ ระบบรถไฟความเร็วสูงอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้การดำเนินโครงการจะเป็นการกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากกรุงเทพมหานครไปยังหัวเมืองสำคัญในจังหวัดตลอดแนวเส้นทาง 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา เป็นต้น)

และในอนาคตการดำเนินงานสมควรที่จะมีการศึกษาและออกแบบต่อเนื่องจากหัวหิน–สุราษฎร์ธานี และปาดังเบซาร์ เพื่อเตรียมการเชื่อมต่อกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง สายสิงคโปร์–มาเลเซีย ซึ่งจะเป็นการเชื่อมภูมิภาคอาเซียนด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เดินทางระหว่างกันในช่วงระยะเวลาที่กำหนดได้ อันส่งผลดียิ่งต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายใต้ เป็นขุมทรัพย์สำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นเส้นทางจุดหมายปลายการท่องเที่ยว หากสามารถเชื่อมโยงการเดินทางจากรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จากหนองคาย มายังกรุงเทพ แล้วเชื่อมไปยังภาคใต้ ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจากจีน สามารถเดินทางและหลั่งไหลเข้าประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีนอยู่แล้ว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ด้วย

ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมีกำลังซื้อสูงก็นิยมเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย หากสามารถทำให้การเดินทางสามารถเชื่อมต่อด้วยรถไฟความเร็วสูง ก็จะจูงใจให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้เดินทางเข้ากรุงเทพ และกระจายไปยังภาคอื่นๆ ของประเทศไทยด้วย ซึ่งสามารถสร้างรายให้ประเทศไทยมหาศาล กระจายรายได้ให้กับท้องถิ่น และช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม ไทย โดยไม่ต้องไปกังวลกับทุนต่างชาติจะย้ายฐานไปที่อื่น และส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมของไทยด้วย

ซึ่งเส้นทางนี้ ถ้าจะให้ดีควรเชื่อมไปยังพังงา และภูเก็ตด้วย

การส่งเสริมรถไฟความเร็วสูง ให้มีมากๆ ก็ช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้รถยนต์ ให้ความสม่ำเสมอในการเดินทาง สามารถจำกัดเวลาในการเดินทางมีความปลอดภัยสูง ส่งผลต่อการพัฒนาเมือง และระบบเศรษฐกิจในเมืองที่มีโครงข่ายพาดผ่านอีกด้วย

ซึ่งจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลมีแผนจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งแอดมินคิดว่า โครงการนี้ละครับ ที่เหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต และเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และภาพลักษณ์ของไทยสู่สายตานานาชาติด้วย

เรื่องนี้เป็นการหยิบยกหัวข้อมาถกเถียงกัน ท่านทั้งหลายมีความคิดเห็นอย่างไร ก็นำมาแชร์ไอเดียกันให้ดังๆ ให้ถึงหูของผู้มีอำนาจ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อผลดีต่อภาพรวมของประเทศชาติต่อไป และหมดยุคการฝากปลาย่างไว้กับแมว แล้วครับ