“รถไฟความเร็วสูงไทย”ส่อรุ่ง! เตรียมรับถ่ายทอดเทคโนฯจากจีน

505

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว การถ่ายทอดความรู้ด้านระบบรางจากจีนกันบ้าง ที่ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง ให้การต้อนรับสภาวิศวกร พร้อมหารือการถ่ายทอดความรู้ด้านระบบราง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งเตรียมจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ประเมิน และพัฒนางานด้านระบบราง นำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

6 พ.ย. 63 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมด้วย ข้าราชการ ขร. ให้การต้อนรับ ผศ.ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ รองเลขาธิการสภาวิศวกร และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมและร่วมหารือด้านระบบราง ณ ห้องประชุมมนังคสิลา อาคาร ณ ถลาง ขร.

ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือเกี่ยวกับแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงนามในสัญญา 2.3 โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา โดยจะมีการจัดฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อาจารย์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุม 3 หัวข้อ

ประกอบไปด้วย การออกแบบ การวางแผน และการทดสอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการใช้งาน ทดสอบ และตรวจสอบชิ้นส่วน/ผลิตภัณฑ์ ในระยะแรก 14 รายการ และระยะที่สอง 12 รายการ

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ประเมิน และพัฒนางานด้านระบบราง ในเรื่องเทคโนโลยี มาตรฐาน ทรัพยากรบุคคล โดยเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการด้านระบบราง การซ่อมบำรุง และนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

โดยการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง นี้ มีรายงานว่าในเดือน พ.ย. กระทรวงคมนาคม จะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีของระบบรางทั้งหมด และฝึกอบรมบุคลากร โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วางหลักสูตรรับนักศึกษาต่อไป

การเซ็นสัญญา 2.3 เรื่อง ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท กับจีน ถือเป็นโอกาสสำคัญของไทย ในการรับการถ่ายถอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากจีน ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จีน ยอมให้กับไทยได้มากอย่างนี้
การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ประเมิน และพัฒนางานด้านระบบราง จึงเป็นรูปธรรมอันสำคัญในการความก้าวหน้าเรื่องนี้ ก็หวังว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะไม่ทำอะไรให้โครงการนี้สะดุดอีกนะครับ