สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าวเรื่องรัสเซียสนใจลงทุนระบบรางในไทยกันบ้างนะครับ โดยล่าสุด เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย เพื่อร่วมหารือประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการด้านระบบรางของไทย โดยเฉพาะแสดงความสนใจพัฒนาการขนส่งสาธารณะในเมืองหลักที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
6 สิงหาคม 2563 ห้องรับรองอาคารรัฐสภา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พบกับนายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าพบ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย – รัสเซีย
โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง และการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมหารือประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการด้านระบบรางของไทย ซึ่งระบบการขนส่งทางรางของรัสเซียได้พัฒนาอย่างรุดหน้าเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ภาคเอกชนชั้นนำของรัสเซียมีความสนใจที่จะมาลงทุนโครงการในประเทศไทย โดยจะหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยถึงความเป็นไปได้ต่อไป รวมถึงการพัฒนาการขนส่งสาธารณะในเมืองหลักที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือโอกาสและความเป็นไปได้ที่ฝ่ายไทยจะสามารถดำเนินการร่วมกับรัสเซียเรื่องอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการบินระหว่างไทย – รัสเซีย เพื่อฟื้นฟูเส้นทางการบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ความร่วมมือทางวิชาการด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกระทรวงคมนาคมของทั้งสองประเทศ แนวทางการพัฒนาโครงการ EEC
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้แจ้งความก้าวและความมุ่งหวังในการเชื่อมต่อการขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างกันอย่างไร้รอยต่อ และความก้าวหน้านโยบายการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ของไทย เป็นต้น
สำหรับ การขนส่งระบบรางในประเทศรัสเซีย เคยถูกเรียกว่าเป็น “เศรษฐกิจอันอัศจรรย์ในรัสเซีย” โดย รัสเซียถือว่ามีทางรถไฟยาวอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ถ้านับในด้านการขนส่งสินค้า จะมีระยะทางเป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน
การพัฒนาระบบรางของไทย กำลังดึงดูดยักษ์ใหญ่ด้านระบบรางเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และล่าสุด คือ รัสเซีย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทย ได้ประโยชน์ในการเทคโนโลยีและเงินทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบรางที่ก้าวหน้าอีกแห่งหนึ่งของโลก และจะกลายเป็นศูนย์ของภูมิภาคอาเซียน ด้านองค์ความรู้ด้านระบบราง และอุตสาหกรรมระบบราง ที่ไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วในอุตสาหกรรมยานยนต์
แต่ประเทศไทย ก็อาจจะเสียโอกาสนี้ หากไม่เร่งให้แผนการระบบรางเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้ และการปรับรื้อโครงการตามอำเภอใจ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง จนอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน ดังนั้นแล้วการเดินหน้าตามแผนที่ประกาศไว้ จึงเป็นสิ่งที่กระทรวงคมนาคม ต้องทำให้ได้เป็นอันดับแรกเพื่อนำพาประเทศไทย ไปสู่ศูนย์ของระบบรางในภูมิภาคนี้
แบบที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยทำไว้ ไม่เช่นนั้นแล้วแผนการนี้จะเสียของ ครับ