สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม กันบ้าง ที่ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า อยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อร่างทีโออาร์ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ช่วงปลายปีนี้
โครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งเส้นทางยุทธศาสตร์โครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ตอนบน จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไปติดตามกันครับ
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อ 2 ก.ค.63 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้กล่าวว่า อยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อร่างทีโออาร์ คาดว่าช่วงปลายปีนี้น่าจะเปิดประมูลได้
ย้อนที่มาของโครงการนี้ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 แบ่งงานออกเป็น 2 สัญญา มีแผนกำหนดเปิดเดินรถในปี 2568 ขณะที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับการอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563
โครงการก่อสร้างรถไฟทางทางคู่ นครพนม เป็นส่วนหนึ่งเส้นทางยุทธศาสตร์โครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ตอนบน (Upper East-West Economic Corridor) ช่วง แม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก บ้านไผ่-นครพนม ช่วงที่ 2 จากนครสวรรค์-บ้านไผ่ และช่วงที่ 3 จากนครสวรรค์-แม่สอด
สำหรับ แนวเส้นทางระเบียบเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโครงข่ายรถไฟเดิมไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนด้านตะวันออกจะเชื่อมไปยังโครงการศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดน จังหวัดนครพนม
และสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟจากนครพนมไปยัง สปป.ลาว เชื่อมไปถึงเมืองวินและฮานอย ประเทศเวียดนาม
ส่วนด้านตะวันตกจากแม่สอด จะสามารถเชื่อมไปยังท่าเรือย่างกุ้ง ท่าเรือมะละแหม่ง ประเทศพม่า ได้อีกด้วย
โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เป็นเส้นที่สำคัญ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนได้เดินทางสะดวกแล้ว ยังเป็นช่วยในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงไปยังท่าเรือสำคัญของอาเชียน ซึ่งจะเป็นเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ของภาคอีสานตอนบนได้เป็นอย่างดีครับ