กทม.ลุยสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา

775

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามเรื่องโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร กันบ้าง

ที่ล่าสุด ผู้ว่าฯกทม. ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตประเวศ สวนหลวง พระโขนง และบางนา

โดยขณะนี้ผลงานการก่อสร้างอุโมงค์คืบหน้าแล้วประมาณ 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ในช่วงปลายปี 2564 พร้อมสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง เช่น อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

3 ก.ค.63 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำบางอ้อ เขตบางนา

โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ จากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกหนึ่งแผนงานในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ บริเวณถนนอ่อนนุช ถนนอุดมสุข และถนนสุขุมวิท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่เขตประเวศ สวนหลวง พระโขนง และบางนา โดยขณะนี้ผลงานการก่อสร้างอุโมงค์คืบหน้าแล้วประมาณ 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ในช่วงปลายปี 2564

สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จะทำหน้าที่เป็นเสมือนทางด่วนลัดน้ำให้ระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น โดยตัวอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 5 เมตร แนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน คลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำบางอ้อเพื่อไปออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทางประมาณ 9.4 กิโลเมตร

ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาการระบายน้ำโดยไม่ต้องผ่านระบบคลองตามปกติ รวมทั้งยังช่วยลดระดับน้ำในคลอง ให้มีระดับต่ำได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

นอกจากนี้ กทม.มีแผนจะสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนา อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบลาดพร้าวถึงซอยลาดพร้าว 130 และอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี

กรุงเทพมหานครหลายจุดต้องเผชิญกับน้ำท่วงขัง โดยเฉพาะเมื่อเข้าหน้าฝนดังนั้นการสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น ซึ่งจะมีประโยชน์ทั้งการแก้ปัญหาการจราจร และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และลดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจด้วยครับ