รถไฟฟ้าพัทยาเคาะแล้า เลือกโมโนเรล-เส้นทางสายสีเขียว 8.15 กม.

1598


สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตาม ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าเมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี กันบ้าง ที่ล่าสุด ได้การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๒ ด้านโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมเห็นพ้องเลือกระบบรถไฟฟ้าระบบ Monorial เพราะมีผลกระทบน้อย

และใช้งบการลงทุนน้อยกว่าระบบอื่น พร้อมเลือกเส้นทางสายสีเขียว ระยะทาง 8.15 กม. เส้นทางวิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-แหลมบาลีฮาย เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2563 ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยนายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา เป็นประธานในการประชุม และมีหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีการจัดประชุมรับฟังความเห็นวันละ 2 รอบ รอบเช้า – รอบบ่าย รอบละ 40 คน รวมทั้งสิ้น 240 คน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙

นายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดการโครงการฯกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ว่า เนื่องจากเมืองพัทยาเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาการจราจรและขนส่งเป็นอันมาก โดยเฉพาะบริเวณกลางเมืองซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของเมือง

พบว่าสาเหตุหลักของปัญหาการจราจรและขนส่งในเมืองพัทยา คือ ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลพอเพียง ส่งผลให้มีปริมาณการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาจราจรและการขนส่ง และส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษทั้งทางอากาศและทางเสียง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการเดินทางในเมืองพัทยาให้ครอบคลุมทั้งที่พักอาศัยและแหล่งกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ โดยในการดำเนินการดังกล่าวต้องสอดคล้องกับโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

ดังนั้นเมืองพัทยาจึงได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด บริษัท ซี คอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท แพลนโปร จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นั้น เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายในเขตพื้นที่เมืองพัทยา และเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการคมนาคมขนส่ง เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

โดยจากการรับฟังความคิดเห็น ระบุว่า ระบบโมโรเรล (Monorial) เหมาะสมสุด เพราะเป็นโครงสร้างที่ก่อสร้างสูงกว่าระดับถนนเดิม ทำให้มีผลกระทบน้อย และยังใช้งบประมาณการลงทุนน้อยกว่าระบบอื่นด้วย

ส่วนเส้นทาง นั้น ที่ประชุมเห็นว่า สายสีเขียว เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนใช้ในการสัญจร ไม่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินมากนัก โดยเส้นทางนี้ มีระยะทาง 8.15 กม.วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-ถนนพัทยาเหนือ-แยกวงเวียนปลาโลมา-ถนนพัทยาสายสอง-แยกพัทยาใต้-แยกทัพพระยา-แหลมบาลีฮาย

ส่วนอีก 2 สายที่ไม่ได้เลือกคือ สายสีแดง มีระยะทาง 14.50 กม. เส้นทางเริ่มจากแยกวงเวียนปลาโลมา- ถนนพัทยาสาย 2 -แยกทัพพระยา- ถนนทัพพระยา-ถนนจอมเทียนสาย 2-แยกจอมเทียนสาย 2-ถนนสาย ง.4 ผังเมืองรวมพัทยา หรือ ถนนตัดใหม่ และไปสิ้นสุดตัดกับถนนสาย ง.1 ผังเมืองรวมพัทยา

และ สายสีม่วง ระยะทาง 7.60 กม. เส้นทางเริ่มจากแยกทัพพระยา -ถนนพัทยาสาย 3 -ถนนพัทยาใต้-บริเวณแยกพัทยาใต้-ถนนสาย ก.1 ผังเมืองรวมพัทยา และไปสิ้นสุดตัดกับถนนสาย ง.1 ผังเมืองรวมพัทยา

โดยรูปแบบการลงทุน จะเป็นแบบ PPP หรือรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะมีการประเมินตามผลการศึกษาอีกครั้ง

ทั้งนี้ สำหรับขอบเขตของการดำเนินงาน โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น ตลอดระยะเวลาดำเนินการโครงการ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 สำหรับในครั้งนี้เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกรูปแบบและโครงสร้างของระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองพัทยา ต่อไป

เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ปัจจุบันมีปัญหาความแออัดของการจราจรอย่างมาก รวมทั้งอยู่ใกล้พื้นที่โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการ หากเมืองมีขนาดต่อขึ้น ก็คงจะดำเนินการยากขึ้น และคงต้องใช้งบประมาณมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโครงการนี้ก็คงต้องดำเนินการอย่างรอบรอบ โดยเฉพาะทัศนียภาพของเมืองครับ