สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กันบ้าง ที่ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ บอร์ดอีอีซี ได้อนุมัติสัมปทานโครงการมูลค่า 290,000 ล้าน ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส แล้ว หลังจากนี้จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาในเดือน มิ.ย.นี้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
21 พฤษภาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
โดยภายหลังการประชุม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 มีมติเห็นชอบร่างสัญญาและผลการเจรจาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ วงเงิน 290,000 ล้านบาท ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส(บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือหุ้น 35% กับ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ถือหุ้น 45%และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)ถือ 20%)เป็นผู้ชนะการคัดเลือก แล้ว
ขั้นตอนหลังจากนี้จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาระหว่างกองทัพเรือกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสในเดือน มิ.ย.นี้
นายคณิต แสงสุพรรณ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำในที่ประชุม เน้นว่า “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออก” และ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” จะต้องเดินหน้าสอดคล้อง เชื่อมโยงกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อตัวโครงการและการพัฒนาประเทศด้วย
มีรายงานเพิ่มเติมว่า “เมืองการบินภาคตะวันออก” ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา ประกอบด้วย 6 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Passenger Terminal Building 3) 2) ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน (Commercial Gateway and Ground Transportation Centre) 3) ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul) 4) เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone) 5) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) และ 6) ศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre)
โดยมีเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท พบว่า จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก รวมทั้งเพิ่มเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบิน และธุรกิจเชื่อมโยง โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐ
นอกจากนี้ เมืองการบินภาคตะวันออก” จะทำหน้าที่สำคัญ 3 ด้าน คือ เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง เป็นศูนย์กลางการพัฒนา “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของ EEC และเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” เชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออกด้วยทางบก ทางราง รถไฟและรถไฟความเร็วสูง และทางอากาศ สนามบิน
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็น 1 ใน 5 โครงการพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังจากก่อนหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ดำเนินการล่วงหน้าไปแล้ว ซึ่งตามแผนทั้ง 2โครงการเพื่อให้เปิดบริการและเสร็จพร้อมกันในปี 2566 ซึ่งหาก 2 โครงการนี้สร้างแล้ว จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไปยืนอยู่แถวหน้าของอาเซียน และของเอเชียครับ ครับ