บินทดสอบ เตรียมเปิดสนามบินเบตง

465

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา กันบ้าง ที่ล่าสุด รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน พร้อมคณะ ได้ทำการบินสำรวจประกอบการพิจารณาจัดทำวิธีปฎิบัติการบินด้วยทัศนวิสัย พร้อมทั้งได้ตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานเบตงและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อเตรียมรองรับการเปิดใช้งานท่าอากาศยานเบตง เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน พร้อมนายณรงค์ อรุณภาคมงคล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยภาคพื้น และเจ้าหน้าที่กองมาตรฐานสนามบิน เจ้าหน้าที่กองเครื่องช่วยการเดินอากาศและเครื่องกล และผู้แทนจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ ณ ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา เดินทางโดยอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน ในระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤษภาคม 2563

และใช้อากาศยานทำการบินสำรวจประกอบการพิจารณาจัดทำวิธีปฎิบัติการบินด้วยทัศนวิสัย (Visual Flight Procedure) สำหรับการบินลงทางวิ่ง 25 โดยสอดคล้องกับระบบไฟ PAPI เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำการบินของอากาศยาน พร้อมทั้งได้ตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานเบตงและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อเตรียมรองรับการเปิดใช้งานท่าอากาศยานเบตง

 

โดยตามแผนท่าอากาศยานเบตง จะเปิดให้บริการภายในเดือน มิ.ย. 2563 จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 COVID-19 ทำให้เลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด

 

สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติเบตง ตั้งอยู่ที่ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตงไปทางทิศเหนือ ประมาณ 12 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ 920 ไร่ เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ ลำดับที่ 29 สังกัดกรมท่าอากาศยาน และนับเป็นท่าอากาศยานของประเทศไทย แห่งที่ 39 วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง

และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การเมือง และจะทำให้การคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดยะลา และการเชื่อมต่อสู่ประเทศมาเลเซียที่ด่านเบตงและพื้นที่ใกล้เคียง

โดยมีอาคารที่พักผู้โดยสารเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ 300 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี

ลานจอดเครื่องบินขนาด 94X180 เมตร สามารถจอดอากาศยาน 3 ลำ

 

ส่วนทางวิ่ง หรือ รันเวย์ และทางขับ (แท็กซี่เวย์) ทีทางวิ่งขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ได้มากกว่า 4,000 เที่ยวต่อปี

และ ทางขับ หรือ แท็กซี่เวย์ ประกอบด้วยทางขับ A ขนาด 18X587 เมตร ทางขับ B ขนาด 18X115 เมตร

แม้ว่าสนามบินแห่งนี้ยังไม่สามารถเปิดได้ตามกำหนด เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ด้วยการตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี ทั้งมีสภาพพื้นที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว และอยู่ใกล้ประเทศอาเซียนหลายประเทศ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็คาดว่าหากเหตุการณ์ปกติท่าอากาศยานแห่งนี้ จะมีความคึกคักอีกแห่งหนึ่งครับ