อัพเดท รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

857

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) กันบ้าง ที่ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ขั้นตอนต่อจากนี้ การรรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมสำรวจปักหมุดแนวเวนคืน และ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2564 และเปิดบริการในปี 2569 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เป็นอีกโครงการระบบขนส่งทางรางที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและลุ้นกันมานาน แต่ล่าสุดมีข่าวดีครับ โดยเมื่อ 28 เม.ย. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ

คือ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ซึ่งจะเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้า และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการขนส่งมวลชน ตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

ซึ่งเรื่องนี้มีรายงานข่าวจาก การรรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า ขั้นตอนต่อไป หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ก็จะรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และการรรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะว่าจ้างเพื่อทำการสำรวจพื้นที่ต่อไป

โดยจะมีการเวนคืนที่ดินประมาณ 500 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง 300 หลังคาเรือน และเวนคืนเพื่อเป็นจุดขึ้น-ลง 17 สถานี พื้นที่ก่อสร้างที่จอดรถไฟฟ้า 50 ไร่ โดยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ กำหนดกรอบวงเงินไว้ประมาณ 15,913 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่า จะเปิดประมูลได้ในปี 2564 และเปิดบริการในปี 2569

สำหรับโครงการรถไฟฟ้สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit) มีกรอบวงเงินรวม 101,112 ล้านบาท

โดยแยกเป็นค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 77,385 ล้านบาท สำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท สิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง 1,335 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงาน 2,865 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดงานโยธา 3,582 ล้านบาท

ส่วนงานระบบรถไฟฟ้า 23,064 ล้านบาท จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP

ส่วนโครงสร้าง เป็นโครงสร้างผสมระหว่างโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินและโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ มีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร (เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กิโลเมตร)

ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี)

โดยแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีเตาปูน เป็นทางยกระดับตามแนวถนน ง.8 ข้ามคลองบางซื่อ โดยเปลี่ยนเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร

ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (โรงเรียนโยธินบูรณะเดิม) โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง แยกผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ถนนมหาไชย

ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ หลังจากนั้น แนวเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกดาวคะนอง ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 ผ่านแยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ครุใน

นอจากนี้ยัง โรงจอดรถไฟฟ้า ตั้งอยู่บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางบางพลี – สุขสวัสดิ์ ด้านขาเข้าเมือง

และ อาคารจอดแล้วจร ประกอบด้วยอาคารจอดแล้วจรบางปะกอกตั้งอยู่ที่สถานีบางปะกอก และอาคารจอดแล้วจรราษฎร์บูรณะ ตั้งอยู่ที่สถานีราษฎร์บูรณะ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งต่อไปสายสีม่วงจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมการเดินทางถึง 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และ สมุทรปราการ

นอกจากจะช่วยให้การเดินทางของประชาชนสะดวก สบายแล้ว ยังจะช่วยพัฒนาพื้นที่2ข้างทางหรือบริเวณใกล้เคียงด้วย และการลงทุนโครงการดังกล่าว จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ด้วยครับ