คมนาคม ลั่นลุยระบบรางเต็มสูบ ดันขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น 30%

447

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว การเดินหน้าระบบการขนส่งทางราง ของกระทรวงคมนาคม กันบ้าง โดยล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้วางแนวทางใช้ประโยชน์จากระบบรางอย่างเต็มที่ และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น 30% ภายในปีหน้า

พร้อม ปรับเปลี่ยนการขนส่งทางถนนสู่ราง-ลดต้นทุนการขนส่ง พร้อมเปิดให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ สั่ง 3 หน่วยงานร่วมจัดทำ Action Plan ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเมื่อ 24 เมษายน 2563ว่า ได้มีการประชุมการพัฒนาระบบรางเป็นรถไฟทางคู่เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง 30% และการสนับสนุนเอกชนร่วมบริการระบบราง โดยในปัจจุบัน การรถไฟฯ มีโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมจำนวนมาก จึงควรใช้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพและสูงสุด

ซึ่งจากข้อมูล พบว่า ประเทศไทยมีทางรถไฟทางเดี่ยว ระยะทาง 4,044 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด แบ่งเป็น สายเหนือ 781 กม., สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 1,094 กม., สายตะวันออก 534 กม., สายแม่กลอง 65 กม. และสายใต้ 1,570 กม. แต่มีการเดินรถไฟสินค้า 156 ขบวนต่อวัน โดยในปี 2562 ภาพรวมการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 10.50 ล้านตัน หรือคิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับทุกระบบการขนส่ง ซึ่งถือว่าใช้ศักยภาพรางต่ำมาก
.
นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังมีโครงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ตามแผนพัฒนาทางคู่ ระยะที่ 1 รวม 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,671 กม. นั้น ขณะนี้ ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการไปแล้ว 2 เส้นทาง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 เส้นทาง และเส้นทางสายใหม่ที่อยู่ระหว่างประกวดราคา 2 เส้นทาง รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทางระยะทางรวม 1,483 กม. โดยจากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้วางไว้ดังกล่าวข้างต้นนั้น กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น 30% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 13.26 ล้านตัน ภายในปี 2564 จากในปี 2561 ขนส่งสินค้าทางรถไฟ 10.21 ล้านตัน เพื่อให้มีการใช้ศักยภาพทางรางที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ โดยเพื่อเป็นการลดต้นทุนทางด้านการขนส่งด้วย
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไปจัดทำ Action Plan แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยใน Action Plan ดังกล่าว จะต้องมีการกำหนดความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน และกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ ขณะที่การให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการนั้น จะเร่งนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาออกกฎให้เอกชนสามารถเข้ามาร่วมดำเนินการได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ยังไม่ได้ระบุไว้
.
สำหรับแนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ได้แก่
1.จะต้องพัฒนาทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถ ทั้งเรื่องความจุทาง และความปลอดภัย
.
2.ติดตั้งระบบควบคุมการเดินรถ โดยเร่งติดตั้งระบบควบคุมการวิ่งขบวนรถ และการหยุดรถอัตโนมัติ
.
3.สนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อเพิ่มความถี่ของบริการ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาด และให้เกิดการแข่งขันด้านการให้บริการและราคา
.
4.จะต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเดินรถ
.
5.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) และ
.
6.การใช้มาตรการทางการเงิน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของการขนส่งทางราง เช่น การให้ Carbon Credit แก่ผู้ประกอบการที่ใช้การขนส่งทางราง สามารถนำไปลดหย่อนภาษี

ประเทศไทย ได้เดินหน้าพัฒนาระบบรางอย่างเต็มที่ โดยในขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างอยู่ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทย มีศักยภาพสูงในการแข่งขัน ทั้งด้านการคมนาคม และโลจิสติกส์ ดังนั้นต่อจากนี้จึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถใช้ประโยชน์ยุทธศาสตร์นี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะวิกฤติ โควิด-19 นี้ครับ