เปิดแล้ว MRT สายสีน้ำเงิน แบบครบลูป

419

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตาม การเปิดให้บริการ MRT สายสีน้ำเงิน แบบครบลูป กันบ้าง วันนี้ 30 มีนาคม เป็นวันแรกของการเปิดให้บริการ แบบครบทุกสถานีและเต็มโครงข่ายของเส้นทาง และมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมือง ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็วและต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีผู้ไปใช้บริการน้อยเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หากสถานการณ์ปกติ เชื่อว่า จะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีผู้ใช้หนาแน่น ​ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

วันที่ 30 มีนาคม 2563 ถือเป็นวันแรก!! ของการเปิดให้บริการ MRT สายสีน้ำเงิน แบบครบลูป โดยมีรายงานจาก รถไฟฟ้า​ MRT ระบุว่า

รถไฟฟ้า​ MRT​ สายสีน้ำเงินเปิดให้บริการแบบครบทุกสถานีและเต็มโครงข่ายของเส้นทาง โดยมีจำนวนสถานีทั้งสิ้น 38 สถานี รวมระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นวงกลม (Circle Line) เดินทางได้รอบกรุงเทพมหานคร และมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมือง ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้โดยสะดวก รวดเร็วและต่อเนื่อง​

สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งเส้นทาง จะคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ตั้งแต่สถานีแรก ที่อัตรา 16 บาท สูงสุด 42 บาท ทั้งนี้การคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุด จะคิดที่ 12 สถานี จากจำนวนทั้งสิ้น 38 สถานี

ในกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง​ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 48 บาท (จากราคาปกติไม่เกิน 70 บาท) เดินทางได้ถึง 53 สถานี (สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง) โดยเมื่อผู้โดยสารแตะบัตรหรือเหรียญโดยสารที่ประตูอัตโนมัติแล้ว จะสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที พร้อมทั้งยังคงส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี ที่มีความสูงระหว่าง 91 – 120 ซม. และ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50%

รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 10% เช่นเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม แรกๆ การขึ้นรถก็อาจจะสับสนกันหน่อนนะครับ โดยเรื่องนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.มีข้อแนะนำว่า หากต้องการทราบว่า ถ้าจะไปสถานีนี้ต้องขึ้นที่ชานชาลาไหน ท่านสามารถสังเกตได้ง่ายๆ จาก “ป้ายบอกทาง” ซึ่งติดตั้งอยู่แทบทุกจุดของชั้นออกบัตรโดยสารและชั้นชานชาลาในทุกสถานี โดยป้ายบอกทางนี้จะบอกข้อมูลต่างๆ คือ

ทางไปชานชาลาหมายเลขต่างๆ

ข้อมูลทางออก

ลิฟต์โดยสาร

และบันไดเลื่อน

และหากต้องการทราบว่า บนชานชาลาที่เรายืนอยู่ ตรงกับรถไฟฟ้าขบวนที่เราต้องการจะขึ้นหรือไม่ ก็สามารถสังเกตได้จาก “ป้ายบอกเส้นทางที่ชั้นชานชาลา” ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณประตูกั้นชานชาลาของทุกสถานี โดยป้ายนี้จะบอกข้อมูลต่างๆ ได้แก่

1. สถานีปลายทาง

2. หมายเลขชานชาลา

3. จุดที่ยืนอยู่คือสถานีอะไร

และ 4. รถไฟฟ้าจะมุ่งหน้าผ่านสถานีอะไรบ้าง

นอกจากนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเจ้าหน้าที่ประจำสถานี
ก็อาจงงๆ กันนิดหนึ่งนะครับสำหรับการเดินทางเส้นทางนี้ แต่ไม่เป็นไรคนไทยเรียนรู้ง่าย สักระยะก็คงคล่องแคล่วกันครับ