สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตาม การเปิดให้บริการ MRT สายสีน้ำเงิน แบบครบลูป กันบ้าง วันนี้ 30 มีนาคม เป็นวันแรกของการเปิดให้บริการ แบบครบทุกสถานีและเต็มโครงข่ายของเส้นทาง และมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมือง ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็วและต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีผู้ไปใช้บริการน้อยเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หากสถานการณ์ปกติ เชื่อว่า จะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีผู้ใช้หนาแน่น เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
วันที่ 30 มีนาคม 2563 ถือเป็นวันแรก!! ของการเปิดให้บริการ MRT สายสีน้ำเงิน แบบครบลูป โดยมีรายงานจาก รถไฟฟ้า MRT ระบุว่า
รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินเปิดให้บริการแบบครบทุกสถานีและเต็มโครงข่ายของเส้นทาง โดยมีจำนวนสถานีทั้งสิ้น 38 สถานี รวมระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นวงกลม (Circle Line) เดินทางได้รอบกรุงเทพมหานคร และมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมือง ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้โดยสะดวก รวดเร็วและต่อเนื่อง
สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งเส้นทาง จะคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ตั้งแต่สถานีแรก ที่อัตรา 16 บาท สูงสุด 42 บาท ทั้งนี้การคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุด จะคิดที่ 12 สถานี จากจำนวนทั้งสิ้น 38 สถานี
ในกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 48 บาท (จากราคาปกติไม่เกิน 70 บาท) เดินทางได้ถึง 53 สถานี (สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง) โดยเมื่อผู้โดยสารแตะบัตรหรือเหรียญโดยสารที่ประตูอัตโนมัติแล้ว จะสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที พร้อมทั้งยังคงส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี ที่มีความสูงระหว่าง 91 – 120 ซม. และ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50%
รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 10% เช่นเดิม
แต่อย่างไรก็ตาม แรกๆ การขึ้นรถก็อาจจะสับสนกันหน่อนนะครับ โดยเรื่องนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.มีข้อแนะนำว่า หากต้องการทราบว่า ถ้าจะไปสถานีนี้ต้องขึ้นที่ชานชาลาไหน ท่านสามารถสังเกตได้ง่ายๆ จาก “ป้ายบอกทาง” ซึ่งติดตั้งอยู่แทบทุกจุดของชั้นออกบัตรโดยสารและชั้นชานชาลาในทุกสถานี โดยป้ายบอกทางนี้จะบอกข้อมูลต่างๆ คือ
ทางไปชานชาลาหมายเลขต่างๆ
ข้อมูลทางออก
ลิฟต์โดยสาร
และบันไดเลื่อน
และหากต้องการทราบว่า บนชานชาลาที่เรายืนอยู่ ตรงกับรถไฟฟ้าขบวนที่เราต้องการจะขึ้นหรือไม่ ก็สามารถสังเกตได้จาก “ป้ายบอกเส้นทางที่ชั้นชานชาลา” ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณประตูกั้นชานชาลาของทุกสถานี โดยป้ายนี้จะบอกข้อมูลต่างๆ ได้แก่
1. สถานีปลายทาง
2. หมายเลขชานชาลา
3. จุดที่ยืนอยู่คือสถานีอะไร
และ 4. รถไฟฟ้าจะมุ่งหน้าผ่านสถานีอะไรบ้าง
นอกจากนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเจ้าหน้าที่ประจำสถานี
ก็อาจงงๆ กันนิดหนึ่งนะครับสำหรับการเดินทางเส้นทางนี้ แต่ไม่เป็นไรคนไทยเรียนรู้ง่าย สักระยะก็คงคล่องแคล่วกันครับ