เดินหน้า! ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3  ตั้งเป้าเสร็จปี 2566

397

 

เดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3   หวังยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค  และเป็นการเสริม  EEC   พร้อมยืนยันแล้วเสร็จทันภายในปี 2566  ครับ

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3  กันบ้างที่ล่าสุด  ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่า จะเดินหน้าโครงการ หวังยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค  และเป็นการเสริม  EEC  โดยงานก่อสร้างออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.งานก่อสร้างทางทะเล 2.งานก่อสร้างท่าเทียบเรือ  3.งานก่อสร้างระบบรถไฟ และ 4.ด้านเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ  พร้อมยืนยันแล้วเสร็จทันภายในปี 2566 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

 

 

10 มีนาคม 2563  เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท. เดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับการขยายตัวของตู้สินค้า ส่งเสริมการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 

โดยเตรียมก่อสร้างในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรกภายใต้กรอบการร่วมทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษา โดยเอกชนรายเดียว เพื่อให้ท่าเทียบเรือ F แล้วเสร็จทันภายในปี 2566 โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนที่มีคุณสมบัติและมีความสามารถในการบริหารจัดการท่าเทียบเรือที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีแผนการดำเนินการบริหารจัดการท่าเทียบเรือที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยรวม

สำหรับการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 คณะกรรมการ กทท. มีมติอนุมัติให้จ้างบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1-4) โดยวิธีคัดเลือก และ ทลฉ. ได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

 

สำหรับงานก่อสร้าง จะแบ่งงานออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมระยะเวลาในการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 52 เดือน

 

ทั้งนี้ กทท. เริ่มดำเนินการประกวดราคาจ้างงานในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยประกาศขายเอกสารตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 และกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563

สำหรับงานก่อสร้างส่วนที่ 2 (งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือฯ) อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบประกาศร่างขอบเขตของงาน (TOR) ครั้งที่ 2
ทลฉ. เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันมีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีนโยบายเร่งพัฒนาโครงการ ทลฉ. ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียู.ต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียู.ต่อปี โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

 

รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและการบริหารจัดการของ ทลฉ. ระยะที่ 3 ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในการเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้มีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายด้วยเครื่องมือขนส่งสินค้าประเภทตู้สินค้าที่ทันสมัย พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับสภาพสิ่งแวดล้อม (Green Port) เพื่อยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค พัฒนาระบบการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ได้มาตรฐาน โดยใช้ระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) มาสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงการเป็นประตูการค้า (Gateway) สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศ ซึ่งจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในกลางปี 2563 นี้

 

ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3   เป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคพื้นฐานหลัก ที่สำคัญของ  EEC

 

โดยตามยุทธศาสตร์  EEC  ตั้งเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางบก ทางราง ทางน้ำ แบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันจากการลดเวลาการเดินทางและประหยัดค่าขนส่ง

โดยมีกลุ่มโครงการที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ

1.เชื่อมโยง EEC กับภูมิภาคทางอากาศ ผ่านโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอากาศยานและโลจิสติกส์ทางอากาศ และเชื่อมโยงการเดินของผู้โดยสารสนามบินหลัก (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้การเดินทางระหว่างกทมฯ กับEEC ไม่เกิน 1 ชม.
และ2.เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าของประเทศไทยกับภูมิภาค โดยพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมโยงจีน ลาว ไทย กัมพูชา และระบบขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ และระบบขนส่งแบบอัตโนมัติ ผ่านศูนย์กระจายสินค้าใหม่ที่ฉะเชิงเทรา ไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะ3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 และส่งเสริม EEC ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกโดยการพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Port) ที่ท่าเรือพาณิย์สัตหีบ

 

ดังนั้นการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3  ให้เสร็จทันปี 2566 จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นจริงขึ้นมาได้

 

และนั่นหมายถึงว่า ประเทศไทย จะก้าวหน้าไปอีกระดับ  และมีโอกาสจะไปยืนอยู่ในระดับเอเชีย และระดับโลก เลยครับ