เมื่อ 5 มีนาคม 2563 นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่ามิ.ย.นี้จะขายทีโออาร์ประมูลสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง 23,417 ล้านบาทได้แก่ รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์, ตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช
โดยโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต มูลค่าโครงการ 6,570 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มูลค่าโครงการ 10,202 ล้านบาท และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มูลค่าโครงการ 6,645 ล้านบาท โดยนายวรวุฒิ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า น่าจะได้ผู้ดำเนินโครงการภายในเดือน ก.ค.63
ทั้ง 3 โครงการนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 26 ก.พ.62 ให้ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ส่วนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 5 มี.ค.62
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
พื้นที่ที่เส้นทางผ่าน อำเภอเมืองปทุมธานี , อำเภอธัญบุรี และ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร มีสถานี 4 สถานี คือ
สถานีคลองหนึ่ง, สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, สถานีเชียงราก และสถานีธรรมศาสตร์รังสิต เป็นสถานีระดับดินทั้งหมด ตามแผนเปิดให้บริการ ภายใน พ.ศ. 2565
2.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วง ตลิ่งชัน-ศาลายา มีระยะทาง 14.8 กม. มีสถานีจำนวน 6 สถานี คือ สถานีสะพานพระราม 6 ,สถานีบางกรวย-กฟผ., สถานีบ้านฉิมพลี, สถานีกาญจนาภิเษก, สถานีศาลาธรรมสพณ์ และสถานีศาลายา ซึ่งมีทั้งทางวิ่งระดับดิน และยกระดับ กำหนดเปิดให้บริการปี 2565
และ 3.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วง ตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร มีช่วงที่วิ่งบนพื้นราบคู่ไปกับทางรถไฟระยะทางประมาณ 4.3 กิโลเมตร และมีช่วงยกระดับบริเวณสถานีจรัญสนิทวงศ์ ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร
สำหรับสถานีที่จะก่อสร้างบนรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน–ศิริราช มี 3 สถานี คือ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน (วิ่งบนทางราบ) สถานีจรัญสนิทวงศ์ (วิ่งบนทางยกระดับ) และ สถานีธนบุรี-ศิริราช (วิ่งบนทางราบ) กำหนดเปิดใช้งานปี 2565