สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าแผนการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาระหว่างจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลากันบ้าง ที่ล่าสุด กรมทางหลวงชนบท เตรียมของงบการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนา โครงการนี้ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาความเหมาะสมประมาณ 1 ปี ก่อนเสนอ กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ตั้งเป้าที่จะเปิดประมูลก่อสร้างในปี2565 และเปิดบริการได้ในปี 2568 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
เมื่อ 3 มีนาคม 2563 นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 63 ทช.ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 45ล้านบาท เพื่อใช้ในการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสุนนแหล่งท่องเที่ยวแถบชายฝั่งทะเลภาคใต้ ตามนโยบายของรัฐบาลจำนวน 2 โครงการ
1 ในนั้นคือ ในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ระหว่างจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา วงเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาความเหมาะสมประมาณ 1 ปี
จากนั้นจะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ โดยระหว่างนี้ ทช.จะเริ่มทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมคู่ขนานไปด้วย ตั้งเป้าที่จะเปิดประมูลก่อสร้างในปี2565 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568
สำหรับสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาระหว่างจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา ระยะทาง 6-7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท นั้น ซึ่งที่ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ทั้งอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ได้ผลักดันการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา มาโดยตลอด เพื่อที่จะให้มีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง จังหวัดพัทลุง กับ จังหวัดสงขลา
ซึ่งจะช่วยลดระยะการเดินทางระหว่างจังหวัดได้ 80 กิโลเมตร หรือลดระยะเวลาในการเดินทางได้ราว 2 ชั่วโมง รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาให้สามารถเดินทางมายังจังหวัดพัทลุงได้รวดเร็วขึ้นหากเกิดภัยพิบัติ และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในพื้นที่อีกด้วย
สำหรับตัวสะพานเบื้องต้นจะออกเป็น สะพานคานขึง หรือสะพาน Extradosed Bridge มีรูปร่างคล้ายสะพานขึง (Cable-stayed Bridge) แต่มีความสูงของเสาที่เตี้ยกว่า โดยสะพานในโครงการจะมีเสาสูงคอนกรีต (Pylon) 2 เสาต่อตอม่อ สูงประมาณ 10 เมตรขนาบสองข้างของทางวิ่ง
มีเคเบิลขึงจากบนเสาสูงไปยังคานสะพานซึ่งก่อสร้างเป็นโครงสร้างคอนกรีตอัดแรงมีความหนาประมาณ 4.5 เมตรที่ตอม่อ และลดความหนาคานลงบริเวณช่วงกลางสะพาน
พฤติกรรมการรับน้ำหนักของสะพานคานขึงจะอยู่ระหว่างสะพานขึง และสะพานคานคอนกรีต ลักษณะการจัดวางช่วงสะพานจะมีลักษณะเดียวกันกับสะพานคานคอนกรีต โดยกำหนดให้มีความยาวช่วงสะพานช่วงกลางยาว 135 เมตร และช่วงข้างยาว 90 เมตร รวมความยาวของสะพานขึง 315 เมตร
มีรายงานเพิ่มติเมว่า รูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรม เนื่องจากตัวสะพานตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา การแสดงออกของรูปแบบสะพานที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทะเลสาบเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ผู้มาเยือนเห็นคุณค่าของทะเลสาบที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องการสื่อ เพื่อให้เกิดความรักษ์และห่วงแหน เพื่อชนรุ่นหลังได้สืบต่อไป
ส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยพื้นที่ก่อสร้างโครงการอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ในลุ่มน้ำหลัก 25 ลุ่มน้ำของประเทศไทย ที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA จัดส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ก่อนดำเนินการก่อสร้างโครงการ
ทั้งนี้ปัจจุบันการเดินทางจากจังหวัดพัทลุงไปยังจังหวัดสงขลา มีสะพานเชื่อมระหว่างจังหวัดอยู่ 2 จุดได้แก่ สะพานชะแล้ เชื่อมต่อ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา กับ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง
ส่วนอีกหนึ่งสะพานเป็นที่รู้จักของผู้คนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี นั่นคือ สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เชื่อมต่อพื้นที่ต.น้ำขาว อ.ระโนด จ.สงขลา และต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
แต่เป็นจุดที่อยู่ไกลออกไปมาก จากจุดที่จะก่อสร้างใหม่นี้
ซึ่งการสร้างสะพานแห่งนี้ จะช่วยสร้างความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ในพื้นที่แถบนี้ เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติจำนวนมาก แต่เนื่องจากการเดินไม่ค่อยสะดวก จึงทำให้เป็นที่รู้จักน้อย ดังนั้นการก่อสร้างสะพานนี้จึงได้ประเทศทั้งในแง่ความสะดวก และสร้างเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้กับท้องถิ่นและประเทศชาติ โดยเฉพาะปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เดินทางท่องเที่ยวธรรมชาติในพื้นที่แถบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ