เร่งประมูลอีกเส้น! รถไฟทางคู่ “เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ”

548

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าโครงการ รถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ กันบ้าง ที่ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่ง ให้ รฟท. เร่งดำเนินการประกวดราคางานก่อสร้าง โดยก่อนหน้านี้ วรวุฒิ มาลา คาดว่าต้นปี 2563 จะสามารถเปิดประมูลโครงการได้

เส้นทางนี้ ถือเป็นอีกเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกเส้นหนึ่ง เพราะจะสามารถเชื่อมต่อไปยังศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย และจะเชื่อมการค้าระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้จากไทยไป สปป.ลาว จีน เวียดนาม และเขตเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายระบบรางโดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ รวมทั้งโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว ให้ รฟท. เร่งดำเนินการประกวดราคางานก่อสร้าง

โดยเรื่องนี้ นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยเมื่อปี 2562 ว่า รถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดว่าต้นปี 2563 จะสามารถเปิดประมูลโครงการได้ ซึ่ง EIA ผ่านเรียบร้อยแล้ว

สำหรับความเป็นมาของโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติไป เมื่อ พ.ศ.2561 มีมูลค่าโครงการ รวม 85,345 ล้านบาท ระยะทาง 323 กม. ประกอบด้วย สถานี 26 สถานี ลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ 4 อุโมงค์ ก่อสร้างถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102 แห่ง

โครงการเริ่มต้นจาก จ.แพร่, จ.ลำปาง, จ.พะเยา, จ.เชียงราย จนถึงเชียงของ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม.

เดิมมีกำหนดการสร้างในปี พ.ศ. 2560 แต่เลื่อนออกไปในปี พ.ศ. 2564 ต่อมา จะเปิดการประมูลภายในปี 2561 และเปิดบริการให้ได้ภายในปี 2565-2566 แต่ก็เลื่อนไปอีก เนื่องจากค่าเวนคืนที่ดินที่ยังไม่ลงตัว จนกระทั่งล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้สั่งให้ รฟท. เร่งดำเนินการประกวดราคางานก่อสร้าง

หากย้อนไปไกลกว่านั้น ได้มีการทำการศึกษาเส้นทางนี้มาตั้งแต่ปี 2503 และสำรวจพื้นที่ปี 2512 โดยกำหนดให้ใช้เส้นทางเด่นชัย – แพร่ – สอง – เชียงม่วน – ดอกคำใต้ – พะเยา – ป่าแดด – เชียงราย ระยะทางรวม 273 กิโลเมตร หลังจากนั้นได้มีการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง กระทั่งถึง พ.ศ. 2561 ที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติโครงการ

 

โดยเป้าหมายของโครงการนี้ รัฐบาลคาดหวังว่าหากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับการเดินทาง การค้าชายแดน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ภาคเหนือตอนบน

รวมถึงรองรับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ เชื่อมการค้าระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้จากประเทศไทย ไปยัง ประเทศเพื่อบ้าน และจะช่วยผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย

ดังนั้นเส้นทางจึงนับว่า เป็นยุทธศาสตร์ ที่ควรเร่งดำเนินการ ครับ