ไทยไม่รออาเซียน! เคาะแล้วประมูล 5G คาดเปิดใช้ก่อน ก.ค.63

536

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว การประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G กันบ้าง ที่ล่าสุด ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz แล้ว โดยมีผู้เข้าร่วมการประมูลจำนวน 5 ราย และผลการประมูลรวม 3 คลื่นความถี่ รวมเป็นเงินประมูลทั้งสิ้น 100,521 ล้านบาท โดย กสทช.คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการ 5 g เชิงพาณิชย์ ได้ก่อนเดือนกรกฎาคม 2563 หรือ ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และก่อนประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อ 16 ก.พ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ ในย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 5 ราย คือ 1.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)3. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค  4.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท และ 5.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

ซึ่งการประมูลได้เริ่มต้นในเวลา 09.30 น. และเสร็จสิ้นลงในเวลา 15.05 น. ใช้เวลาประมูลรวมทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 35 นาที

สำหรับผลการประมูลรวม 3 คลื่นความถี่ รวมเป็นเงินประมูลทั้งสิ้น 100,521 ล้านบาท

โดย แบ่งเป็น คลื่นความถี่ 700 MHz เงินประมูลรวม 51,460 ล้านบาท คลื่นความถี่ 2600 MHz เงินประมูลรวม 37,434 ล้านบาท และคลื่นความถี่ 26 GHz เงินประมูลรวม 11,627 ล้านบาท

ผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ประมูลทั้งสิ้นจำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz ผลปรากฏว่ามีผู้ประมูลหมดทั้ง 3 ใบอนุญาต ได้แก่ CAT ได้ 2 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 34,306 ล้านบาท และ เอไอเอส ได้ 1 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 17,154 ล้านบาท

2.ผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ประมูลทั้งสิ้นจำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz
ผลปรากฏว่ามีผู้ประมูลหมดทั้ง 19 ใบอนุญาต ได้แก่ เอไอเอส ได้ 10 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 19,561 ล้านบาท และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ได้ 9 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 17,873 ล้านบาท

และ 3. ผลการประมูลความถี่ย่าน 26 GHz ประมูลทั้งสิ้นจำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz แต่มีการประมูลออก 26 ใบอนุญาต ได้แก่ เอไอเอส ได้ 12 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 5,345 ล้านบาท //บริษัท ทรูมูฟ เอช ได้ 8 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 3,577 ล้านบาท/// ทีโอที ได้ 4 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 1,795 ล้านบาท และ ดีแทค ได้ 2 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 910 ล้านบาท

สำหรับกรอบเวลาดำเนินการในการจัดประมูลคลื่นความถี่นี้ หลังการจัดประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 แล้ว ในวันที่ 19 ก.พ. นี้ จะมีการประชุม กสทช. วาระพิเศษเพื่อรับรองผลการประมูลในครั้งนี้ต่อไป

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า แม้ว่าในเงื่อนไขจะระบุ ให้ผู้ชนะการประมูล เข้ารับใบอนุญาต ได้ภายใน 90 วัน แต่โอเปอเรเตอร์ แจ้งความประสงค์ ขอรับใบอนุญาตในทันที ดังนั้นคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการ 5 g เชิงพาณิชย์ ได้ก่อนเดือนกรกฎาคม 2563 หรือ ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยกสทช. จะให้โอเปอเรเตอร์ ติดตั้งโครงข่าย 5g บนเสาสัญญาณเดิม ที่มีอยู่ทั้งระบบ 130,000 สถานีฐาน โดยไม่ต้องผ่านเวทีประชาพิจารณ์

โดยก่อนหน้านี้ นายฐากร ระบุว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จะเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ ไม่ใช่การทดลองทดสอบเหมือนประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซียประกาศ 20 ม.ค. ก็เป็นการทดลองทดสอบที่เกาะลังกาวีเท่านั้น แต่ประเทศไทย เดือน พ.ค.นี้จะได้ใช้จริง เป็นบริการเชิงพาณิชย์จริง ๆ เร็วกว่าเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นช่วง ต.ค. 2563

หลังการเปิดประมูลในครั้ง สำนักงาน กสทช. ระบุว่า เป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ซึ่งจะนำไทยก้าวล้ำนำอาเซียน

และสำนักงาน กสทช. พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนเต็มที่ โดยเชื่อว่าเทคโนโลยี 5G จะช่วยขับเคลื่อนภาคการผลิต และภาคบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศได้

การมาของ 5G นับเป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศไทย เพราะ จะทำให้การดำเนินชีวิตของคนไทย มีความสะดวกขึ้น รวมทั้งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจ ทั้งส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ และประการสำคัญ จะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของไทยกับนานาประเทศอยู่ในระดับที่สูงขึ้นครับ