สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ซึ่งล่าสุด อธิบดีกรมการขนส่งทางรางลงพื้นที่ พร้อมสั่งเร่งสร้างการเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเหลือง(สถานีสำโรง) กับสายเขียว (สถานีสำโรง)
และทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (สถานีพัฒนาการ) กับ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิ๊งค์ (สถานีหัวหมาก) โดยโครงการคืบหน้าถึงร้อยละ 51 คาดหมายว่า จะเปิดให้บริการทันกำหนดในเดือนตุลาคมปี 2564 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
11 ก.พ. 2563 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง และมาตรการป้องกันการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และมาตรการความปลอดภัย ในพื้นก่อสร้างรถไฟฟ้า
โดยอธิบดีกรมการขนส่งทางรางได้เน้นย้ำผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างให้ดูแลการปฏิบัติการในเรื่องมาตรการป้องกันการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) และนโยบายการลดการจราจรติดขัด ดังนี้
1) ขอให้พิจารณาการติดตั้งสเปย์ฉีดน้ำแรงดันสูงใต้ทางวิ่ง การทำความสะอาดล้อรถที่วิ่งออกจากพื้นที่ก่อสร้าง และติดตั้งผ้าใบคลุมบริเวณที่มีฝุ่น รวมถึงการ ใช้ละอองน้ำเพื่อลดฝุ่นในชั่วโมงเร่งด่วนใต้อาคารสถานีรถไฟฟ้าตลอดแนวถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ และเทพารักษ์
2) ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างโดยให้ระวังการก่อสร้างที่ด้านล่างคงเป็นผิวจราจรอย่างเข้มงวด
3) พิจารณาจัดทำแผนในเรื่องการคืนพื้นที่ผิวการจราจร เพื่อลดปัญหาจราจร บริเวณถนนลาดพร้าว ศรีนคริน เทพารักษ์ในช่วงที่โครงการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ
4) การบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเหลือง(สถานีสำโรง) ของ รฟม. กับ กับสายเขียว (สถานีสำโรง) ของ BTS และทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (สถานีพัฒนาการ) กับ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิ๊งค์ (สถานีหัวหมาก) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้เป็นสถานีร่วม
ทั้งนี้ ผลการคืบหน้าในการก่อสร้างเป็นที่น่าพอใจ ภายใต้การดูแลของ รฟม. อย่างใกล้ชิด ผลงานการก่อสร้างมีความคืบหน้าถึงร้อยละ 51 โดย รฟม. คาดหมายว่า จะเปิดให้บริการทันกำหนดในเดือนตุลาคมปี 2564 รวมระยะเวลา 39 เดือน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรวม 23 สถานี เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคล่อมราง (Straddle Monorail) โครงสร้างยกระดับตลอดสาย
โดยเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder Line) ที่จะกระจายความหนาแน่นของกิจกรรมเมือง และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนหลัก(Main Line) เป็นโครงข่ายอย่างเป็นระบบ
หากแล้วเสร็จโครงการนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพ ได้เป็นอย่างดี ครับ