ลุยต่อโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 -เสร็จอย่างช้าปี 2568

663


สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทย ลั่นเร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งโครงการนี้มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในโครงการ และตามแผนโครงการจะสามารถเปิดดำเนินการอย่างช้าภายใน ปี พ.ศ. 2568 หากแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อ 21 มกราคม 2563 เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และมีกลุ่มบริษัทที่สนใจร่วมลงทุนยื่นซองเสนอราคารวม 2 ราย ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP และกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC มีรายละเอียดดังนี้

คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้พิจารณาหลักฐานคุณสมบัติ (ซองที่ 1) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 และพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ (ซองที่ 2) คือ คุณสมบัติทั่วไปของนักลงทุน คุณสมบัติทางการเงิน และประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ ปรากฏว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า NCP มิได้ลงนามในแบบฟอร์มสัญญากิจการร่วมค้า เพื่อแสดงเจตจำนงในความรับผิดชอบร่วมในการยื่นข้อเสนอตามที่กำหนด ทำให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ

ต่อมากลุ่ม NCP ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา และมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ยื่นคำอุทธรณ์คำพิพากษา และยื่นคำร้องขอให้ระงับคำสั่งเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ทำให้การดำเนินการต้องหยุดชะงัก

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุดได้มีหนังสือและคำสั่งศาลสั่งเพิกถอนเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลปกครองกลาง และในวันที่ 16 มกราคม 2563 ศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์ โดยมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของกลุ่ม NCP ทำให้คำตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นอันถูกต้องและสามารถดำเนินการต่อไปได้

การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการรองรับยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขั้นสูง ด้วยเครือข่ายคมนาคม ที่ครบวงจรด้านระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ (Automation) แบบไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ โครงการจะมีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 7 ล้าน ทีอียู. ต่อปี หากเปิดให้บริการครบทุกท่าจะมีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 18 ล้าน ทีอียู. ต่อปี ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ (Logistics Cost) เสริมสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเป็นประตูการค้าของประเทศในภูมิภาค

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับ ความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ สำหรับจอดเรือน้ำลึก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอานวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมที่จะรองรับการขยาย ตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ โครงการท่าเรือแหลมฉบังตั้งอยู่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

โครงการจะสามารถเปิดดำเนินการอย่างช้าภายใน ปี พ.ศ. 2568 มีแผนการก่อสร้างแบ่งออกเป็นการโครงสร้างพื้นฐาน 5 ปี (ปี พ.ศ. 2561 – 2566) และการก่อสร้างท่าเทียบเรือและติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่าย 3 ปี (ปี พ.ศ. 2565 – 2568)

ดังนั้นหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ก็จะทำให้ ยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีความเป็นจริงไปได้มากขึ้น เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในโครงการ และประการสำคัญจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากขึ้น ครับ