ส่งมาถึงไทยอีก 3 ตู้! รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

417

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าโดยการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งล่าสุด ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการขนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจำนวนสามตู้ ที่ถูกส่งมาจากโรงงานผลิตรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens ที่ประเทศออสเตรีย ซึ่งท่าเรือแห่งนี้ได้ทำการขนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 84 ตู้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

มีรายงานจาก บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ณ ท่าเทียบเรือชุด ดี ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ได้ทำการขนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจำนวนสามตู้ ลงจากเรือขนสินค้า ด้วยเครนยกขนสินค้าหน้าท่า โดยวิธีการพิเศษ ซึ่งปลอดภัยและรวดเร็ว

ก่อนหน้านี้ บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ได้ใช้ท่าเรือแห่งนี้ ทำการขนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาแล้วหลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ปีที่แล้ว ได้ทำการขนถ่านล๊อตสอง จำนวน 3 ตู้ จากเรือขนส่งตู้สินค้า

สำหรับตู้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้ มีขนาด กว้าง 3.1 เมตร ยาว 21.8 เมตร หนัก 37.7 ตัน

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ท่าเทียบเรือชุด ดี ได้ทำการขนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมแล้วมากกว่า 84 ตู้

โดยรถไฟฟ้าดังกล่าว ผลิตที่โรงงานผลิตรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens ที่กรุงเวียนนา (Vienna) และเมืองกราซ (Graz) ประเทศออสเตรีย

สำหรับความคืบหน้าการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็อย่างที่ทราบกันว่า ล่าสุดได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน – ท่าพระ จากสถานี บางโพ – สถานีจรัญฯ 13 ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2562 – 29 มีนาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น.

โดย กระทรวงคมนาคม รฟม. และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า เตรียมพร้อมที่จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบครบทั้งโครงข่ายและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติทั้งเส้นทาง ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

โดยจะคิดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตามระยะทาง ตั้งแต่สถานีแรกที่อัตรา 16 บาท สูงสุด 42 บาท ในกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท โดยเมื่อผู้โดยสารแตะบัตรหรือเหรียญโดยสารที่ประตูอัตโนมัติแล้ว จะสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ รฟม. ทำหน้าที่กำกับดูแลในการดำเนินงานโครงการ เพื่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมและรองรับการเดินทางของประชาชน

โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ระยะทางรวมทั้งสิ้น 28 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง – บางแค เชื่อมต่อจากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีหลักสอง มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ เชื่อมต่อจากสถานีบางซื่อ ผ่านแยกเตาปูนและไปสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ บริเวณแยก ท่าพระ มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี

เมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดให้บริการอย่างเต็มโครงข่ายแล้ว จะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 48 กิโลเมตร จำนวน 38 สถานี และมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม เชื่อมต่อเส้นทางเป็นโครงข่ายวงกลมที่ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครและเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ยังมีจุดที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางราง ทางบก และทางน้ำในเขตเมือง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง บรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัด อันเป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและยกระดับการเดินทาง

พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ครับ