สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าโครงการท่าอากาศยานนครปฐม โดยล่าสุด ได้มีการเปิดการสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน และจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างคือ อำเภอบางเลน และอำเภอนครชัยศรี พื้นที่ขนาด 3,500 ไร่ ทั้งนี้ตามแผนการศึกษา คาดว่าจะมีการก่อสร้างในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการในปี 2568 – 2569 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพฯ ได้มีการ สัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการท่าอากาศยานนครปฐม
โดยมีนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการเปิดการสัมมนา และมี ดร.จรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมท่าอากาศยาน หน่วยงานภาคเอกชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานดังกล่าว
โดยการสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการท่าอากาศยานนครปฐม ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม ที่กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการขึ้น เพื่อศึกษาความต้องการใช้ท่าอากาศยาน และเปรียบเทียบพื้นที่ทางเลือกที่มีศักยภาพในการก่อสร้างสนามบิน โดยพิจารณาในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้าง เพื่อบรรเทาความคับคั่งของท่าอากาศยานหลัก และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างคือ อำเภอบางเลน (ต.บางระกำ
ต.ลำพญา) และอำเภอนครชัยศรี (ต.บางแก้วฟ้า ต.บางพระ ต.วัดละมุด) ซึ่งห่างจากโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ประมาณ 5.3 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที
จากการออกแบบโครงการฯจะมีพื้นที่ขนาด 3,500 ไร่ ทางวิ่งขนาด 45×2,500 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร 3 อาคาร พื้นที่ประมาณ 115,740 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5,100 คนต่อชั่วโมง อาคารและลานจอดรถ จอดรถได้ประมาณ 4,200 คัน
สำหรับรูปแบบการลงทุนกรณีให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานนครปฐมสำหรับรองรับการบิน ได้ทำการวิเคราะห์เป็น 3 กรณีได้แก่ 1. รัฐลงทุนค่าที่ดิน เอกชนลงทุนการก่อสร้างทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 5% จะมีระยะเวลาคืนทุน 18.67 ปี
2. รัฐลงทุนที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ยกเว้นลานจอดเครื่องบิน) เอกชนลงทุนอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 50% จะมีระยะเวลาคืนทุน 20.25 ปี
3.รัฐลงทุนที่ดิน งานระบบโครงสร้างพื้นฐาน งานอาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดเครื่องบินพาณิชย์ เอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินธุรกิจ โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 52% จะมีระยะเวลาคืนทุน 20.17 ปี ซึ่งในครั้งนี้ ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันโครงการท่าอากาศยานนครปฐม อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 และเมื่อได้ดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องนำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณในการลงทุนต่อไป
สำหรับความเป็นมาของโครงการ เนื่องจากปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีจำนวนผู้ประกอบการสายการบินรวมถึงสายการบินต้นทุนต่ำ และปริมาณอากาศยานของแต่ละสายการบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเปิดเสรีทางการบิน ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งแบบประจำและไม่ประจำในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
โดยบางปีเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 10 ทำให้เกิดความแออัดของการจราจรทางอากาศไม่เพียงพอ แม้ว่าทั้งท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิจะมีโครงการขยายขีดความสามารถแล้วก็ตาม ยังพบว่าไม่ทันความต้องการด้านการเดินทางทางอากาศที่เติบโตขึ้น อีกทั้งความแออัดดังกล่าวนั้น ทำให้สูญเสียโอกาสในการรองรับเที่ยวบินพานิชย์ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการบินทั่วไปและการบินเชิงธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก
กรมท่าอากาศยาน ได้ว่าจ้าง บริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม
ประกอบด้วย คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินโดยพิจารณาผลการศึกษาด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐศาสตร์ งานการออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น และงานศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกที่จะเป็นไปได้ในการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินโครงการ ตลอดจนดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษา
โดยก่อนหน้านี้มีรายงานจากกรมท่าอากาศยานว่า หากขั้นตอนต่างๆแล้วเสร็จ ในเดือน ธ.ค.นี้ จะรายงานไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในปี 2563 และตามผลการศึกษาโครงการจะมีการก่อสร้างในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการในปี 2568 – 2569
สนามบินของไทย มีการขยายตัวของเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากขึ้น โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ตอนนี้เริ่มแออัด
การสร้างสนามบินเพิ่ม ในระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร อย่างที่นครปฐม จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ศูนย์การบินระดับภูมิภาค และระดับโลก ค้อไปครับ
ในการศึกษาเบื้องต้น จังหวัดนครปฐม มีความสมในการสร้างสนามบิน มากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องศึกษาผลกระทนสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ และรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการให้ละเอียด รอบคอบ ก่อน ครับ