เดินหน้า รถไฟฯเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ระยอง-จันทบุรี-ตราด

489

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกันบ้าง หลังจากได้มีการลงนามสัญญา สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระยะที่1 คือ ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ไปเรียบร้อยแล้ว

ล่าสุดกำลังเดินหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด กันต่อ ล่าสุด ที่จ.ตราด ได้เปิดเวทีการประชุมกลุ่มย่อยแนวเส้นทางเลือกของโครงการดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่

ทั้งนี้ตามแผน จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และจะสามารถเปิดใช้งานได้ในปี 2571 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันดูครับ

มีรายงานว่า จากการที่ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับแผนดําเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้เร็วขึ้น นั้น

ล่าสุดระยะที่ 1 จากท่าอากาศยานดอนเมืองสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยได้ลงนามสัญญากับเอกชนแล้วนั้น

และขณะนี้ จะดําเนินการศึกษาเส้นทางที่เหมาะสมและออกแบบรถไฟความเร็วสูงของระยะที่ 2 จังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด โดยเร็วต่อไป

โดยล่าสุดเมื่อ 11 ธ.ค. 62 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ เปิดเวทีการประชุมกลุ่มย่อยแนวเส้นทางเลือกของโครงการงานจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม

ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง –จันทบุรี – ตราด

โดยมีนายอาคม ไตรสุวรรณ วิศวกรโครงการฯ นางพิมพ์ใจ ยุทธบรรดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน และนางสาวน้ำฝน พามา นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นผู้นำเสนอเส้นทางก่อสร้างฯ

โดยมีข้าราชการ ประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้แทนภาคธุรกิจ เอกชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนใจเข้าร่วมเวทีดังกล่าว ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองตราด

สำหรับการจัดเวทีการประชุมกลุ่มย่อยในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของโครงการเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองตราด พิจารณาประกอบการลงความคิดเห็น ต่อการเลือก แนวเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะ 2 ส่วนต่อขยาย

รวมไปถึงการศึกษาด้านวิศวกรรม การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะผ่านพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองตราด

โดยมีตัวแทนภาคประชาชน และภาคเอกชน ร่วมแสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้ดำเนินการก่อสร้าง และข้อชี้แนะต่าง ๆ อาทิ ผู้แทนจากหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจัดเวทีในครั้งนี้นอกจากเป็นการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของโครงการให้ประชาชนทราบแล้ว ข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนที่เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ ทางบริษัทที่ปรึกษาจะนำกลับไปปรับแก้ไขแบบโครงการ และจะนำข้อมูลที่ครบถ้วนมาชี้แจงต่อประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ต่อไป

ที่ประชุมได้มีการชี้แจงด้วยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราดนี้

จะทำให้การเดินทางจากจังหวัดตราด ไปกรุงเทพ ใช้ในเวลา 2.15 ชั่วโมง ด้วยราคาค่าโดยสาร 859 บาท
จาก ตราดถึงจันทบุรี แค่ 18 นาที ค่าโดยสาร 207 บาท
ตราดถึงแกลงเพียง 35 นาที ค่าโดยสาร 311 บาท
ตราดถึงระยอง แค่ 48 นาที ค่าโดยสาร 392 บาท
ตราดถึงอู่ตะเภา เพียง 59 นาที ค่าโดยสาร 449 บาท
และตราดถึงสุวรรณภูมิ 1.54 ชม.ค่าโดยสาร 766 บาท

โดยหากสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน จะสามารถเปิดใช้งานได้ในปี 2571 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 เสร็จใน 4 ปี

จังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด เป็นจังหวัดในภาคตะวันออก ที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเป็นพื้นที่รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ยังรองรับการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) ส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรม เชื่อมโยงท่าเรือและสนามบินภาคตะวันออก

ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทาง โดนเฉพาะทางรถไฟ จะช่วยลดต้นทุน ระยะเวลาการเดินทาง ปลอดภัยในการเดินทาง รวมไปถึงการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นโครงการนี้ จึงมีความสำคัญมากครับ