สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าวการเดินหน้า การศึกษาการสร้างอุโมงค์ทางลอดจากถนนนราธิวาสราชนครินทร์-สำโรง หรือที่เรียกกันว่า ทางด่วนใต้ดิน กันบ้างนะครับ โดยก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า จะเป็นทางด่วนใต้ดินแห่งแรกของไทย มีระยะทางประมาณ 9 ก.ม. หวังแก้ปัญหาการจราจร โดยเฉพาะในพื้นที่ สาทร สีลม บางรัก เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่ อาคาร สนข. นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.เป็นประธานการประชุมหารือการศึกษาอุโมงค์ทางลอดจากถนนนราธิวาสราชนครินทร์-สำโรง
โดยมีผู้แทนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร สถานฑูตญี่ปุ่น กระทรวงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ สนข. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือเรื่องแนวทางการดำเนินงานของการศึกษาอุโมงค์ทางลอดจากถนนนราธิวาสราชนครินทร์-สำโรง และแนวเส้นทางอุโมงค์ที่เหมาะสม รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ที่ปรึกษานำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาฯ
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยินดีสนับสนุนข้อมูลโดยจะมีการประสานในรายละเอียดระหว่างหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2561 มีรายงานว่า โครงการดังกล่าว จะเป็นทางด่วนใต้ดิน สร้างจาก ช่วงถนนนราธิวาส-สำโรง มีระยะทางประมาณ 9 ก.ม. โดยจะสร้างเป็นทาง 2 ชั้น ชั้นบนจะทำเป็นถนนให้รถโดยสารสาธารณะวิ่ง
ส่วนชั้นล่างให้รถยนต์ส่วนบุคคลวิ่ง เนื่องจากปัจจุบันถนนบนพื้นราบและถนนยกระดับใน กทม.ได้สร้างขยายเกือบเต็มพื้นที่แล้ว
ซึ่งจะเป็นทางด่วนใต้ดินแห่งแรกของไทย โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี
มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในกทม. โดยเฉพาะในพื้นที่ สาทร สีลม บางรัก พระราม 4 เป็นต้น เพราะสามารถระบายรถจากกทม. ออกไปยังสมุทรปราการได้เร็ว และยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังทางด่วนบางนา ได้อีก
โดย สนข. ได้ทำการศึกษาถนนใต้ดินต้นแบบจาก ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และออสเตรเลีย เป็นต้น
โครงการนี้ยังเป็นแค่แนวคิดและกำลังทำการศึกษา เพราะยังมีประเด็นความท้าทายอีกมาก เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และกรุงเทพมีปัญหาดินอ่อน หากขุดอุโมงค์จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและต้องใช้ค่าก่อสร้างที่สูง
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ สนข.ขยับเรื่องนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าน่า โครงการนี้คงไม่ใช่แค่แนวคิด แต่มีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นจริง
อย่างที่ได้มีอุโมงค์รถไฟฟ้า ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เกิดขึ้นแล้ว ครับ