ขอนแก่น สรุปแล้ว! ชงสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง สำราญ-ท่าพระ

549

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว จังหวัดขอนแก่น เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า รางเบา สายสีแดง ช่วงสำราญ-ท่าพระ ล่าสุดได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นรอบสุดท้าย โดยเสียงส่วนใหญ่เสนอเพิ่มส่วนต่อขยายถึง ม.ขอนแก่น ทำให้โครงการมีระยะทางถึง 26 กม. และมีถึง 20 สถานี ขั้นตอนจากนี้ จะเสนอ คจร. พิจารณาต่อไป เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ – ท่าพระ) ล่าสุด เมื่อ 14 พ.ย. 62 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (KICE) ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการรับฟังความคิดเห็นประชาชน รายงานทบทวนผลการศึกษาโครงการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ – ท่าพระ) โดยมีตัวแทนของเทศบาลทั้ง 5 แห่ง นอกจากนี้ยังมี ตัวแทนมหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) และยังมีผู้สนใจ และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกว่า 1,000 คน

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการรับฟังความคิดเห็นประชาชน รายงานทบทวนผลการศึกษาโครงการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ – ท่าพระ)(Cr.ภาพ FB : PR.KHONKAEN ปชส.ขอนแก่น)

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ เส้นทาง สำราญ-ท่าพระ ก่อเกิดขึ้นมาภายใต้แนวคิด “ระบบรางเปลี่ยนเมือง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม สร้างความเป็นเจ้าของเมือง ถือเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วม สามัคคี ด้วยการสร้างวิถีการดำรงชีวิตและการทำงานด้วยความเอื้ออาทร ลดความขัดแย้ง ของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม”

การรับฟังความคิดเห็นประชาชน รายงานทบทวนผลการศึกษาโครงการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ – ท่าพระ) Cr.ภาพ FB : PR.KHONKAEN ปชส.ขอนแก่น

 

ด้วยการบริหารจัดการแบบหลักการพึ่งพาตนเองไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลด้านงบประมาณ โดยวิธีการระดมทุนของ 5 เทศบาล และภาคเอกชนให้การสนับสนุน

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ ได้รับอนุมัติในหลักการจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อปี 2559 และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. อนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการฯ ตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่น ในผลการศึกษาที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้ศึกษาไว้

จังหวัดขอนแก่นได้มอบให้เทศบาลทั้ง 5 ดำเนินการ และเทศบาลทั้ง 5 ได้มอบหมายกิจการโครงการดังกล่าวให้กับบริษัท บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) เป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการและดำเนินการโครงการฯ

โครงการรถไฟฟ้ารางเบา  สายสีแดง (สำราญ – ท่าพระ) Cr.ภาพ:www.khonkaenthinktank.com

 

มีรายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นรอบสุดท้ายนี้ เนื่องผลการศึกษาเดิมไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง สาเหตุจากจังหวัดขอนแก่นมีการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก ได้จึงการทบทวนผลการศึกษาเพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบันต่อไป

โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นรอบสุดท้ายนี้ เสียงส่วนใหญ่เสนอปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการ คือ ให้เพิ่มเส้นทางเข้าไปในมหาวิทยาลัยข่อนแก่น ประมาณ 1.8 กิโลเมตร ส่งผลให้มีระยะทางเพิ่มเป็น 26 กิโลเมตร จากเดิมมีระยะทาง 22.8 กิโลเมตร และสถานีจากเดิมมี 16 สถานี เพิ่มเป็น 20 สถานี

นอกจากนี้ สถานีระดับพื้นราบเพิ่มเป็น 12 สถานี สถานียกระดับจาก 6 สถานีเพิ่มเป็น 8 สถานี โดยงบประมาณจากเดิม 16,865 ล้านบาท เพิ่มเป็น 22,102 ล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้ารางเบา  สายสีแดง (สำราญ – ท่าพระ) Cr.ภาพ:www.khonkaenthinktank.com

 

โดยข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ที่ได้ในครั้งนี้ จะนำมาประกอบการจัดทำรายงานทบทวนผลการศึกษาโครงการฯ เพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เพื่อพิจารณาต่อไป

โครงการนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ ตามที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ระบุไว้คือ นอกจากจะมีนโยบายการพัฒนาเมืองขอนแก่นสู่ความเป็น Smart City แล้ว ยังมีเป้าจะเป็นเมืองที่จะผลิตรถรางเอง โดยซื้อ Know how และเทคโนโลยี

ในการผลิตจะต้องสร้างคนเพื่อรองรับและจะต้องนำระบบการศึกษาเข้ามาสนับสนุน และที่สำคัญโครงการนี้จะสามารถเชื่อมโยงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเมืองขอนแก่นอย่างมากมาย

นอกจากนั้นยังส่งผลดีต่อระบบการศึกษาของเด็กขอนแก่นเด็กอีสานจะมีงานทำที่ขอนแก่น ไม่ต้องไม่พลัดพรากถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงานที่อื่น ตลอดจนส่งผลดีต่อรายได้ของประชากรและ GDP ของจังหวัดขอนแก่นอีกด้วย

ขอนแก่น เป็นจังหวัดแรกๆ ในต่างจังหวัด ที่มีแนวคิดในการพัฒนาระบบการขนส่งด้วยโครงการรถไฟฟ้ารางเบา และยังมีแนวคิดในการใช้การพัฒนาตรงนี้ในการสร้างเป็นอุตสาหกรรม และสร้างองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมให้แก่ชาวจังหวัดข่อนแก่น ด้วย

จึงนับว่าเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้ามาก ก็ต้องติดตามโครงการนี้กันต่อไป หวังว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในเร็ววันครับ