เร่งแผนตั้ง “รง.ผลิต-ประกอบรถไฟ”เร็วขึ้น-ลุยปี 2563

390

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งโรงงานผลิตและการประกอบรถไฟในไทยกันบ้างนะครับ โดยล่าสุด แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ จะปรับให้เร็วขึ้นเป็น ปี 2563 – 2566 เพื่อให้ทันกับความต้องการ

โดยกระทรวงคมนาคม ระบุ ตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายรถไฟ ระยะ 20 ปี ประมาณการ ความต้องการใช้ตู้รถไฟในประเทศไทยเฉียด 12,000 ตู้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย โดยมี นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง

 

นอกจากนี้ยังมี ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ ซึ่ง คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ประชุม ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 ได้พิจารณาเรื่องแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ โดยเห็นชอบในหลักการ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. และ กรมการขนส่งทางราง หรือ ขร. กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ตามผลการศึกษาให้เป็นรูปธรรมต่อไป

รวมทั้ง เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามมติที่ประชุม คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. จากนั้นหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือกันเป็นระยะ เพื่อขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ดำเนินการเรื่องการจัดตั้งโรงงานผลิตและการประกอบรถไฟในไทยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบาย Thai First คือ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน

พร้อมมีข้อสั่งการให้ กรมการขนส่งทางราง พิจารณาปรับระยะเวลาดำเนินการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ ให้เร็วขึ้น ซึ่งเดิมได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน กำหนดเวลา และเงื่อนไขการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ ระหว่างปี 2563 – 2568 หรือ 6 ปี ปรับให้เร็วขึ้นเป็นปี 2563 – 2566 หรือ 4 ปี เพื่อให้ทันกับความต้องการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบราง เช่น รฟท. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร

โดยที่ประชุมเห็นควรใช้แผนระยะ 4 ปี ในการจัดซื้อขบวนรถไฟประเภทที่ไม่ใช้เทคโนโลยีสูงมากนัก ขณะเดียวกันให้พัฒนาประสิทธิภาพอุตสาหกรรมระบบรางฯ ให้มีศักยภาพรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงตามแผนเดิม รวมทั้งมีมติให้เสนอแผนดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีผลบังคับในการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับระบบรางของหน่วยงานภาครัฐ โดยให้ กรมการขนส่งทางราง ได้จัดการทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน หรือที่เรียกว่า Market Sounding เพื่อสำรวจความสนใจของผู้ประกอบการเอกชนที่จะลงทุนด้านระบบราง จัดทำรายละเอียดของแผนและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนอีกครั้ง

ปลัดกระทรวงคมนาคม ยังกล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ เป็นเรื่องสำคัญ โดยกระทรวงคมนาคมลงทุนด้านระบบรางจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องวางแผนการพัฒนาเพื่อใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในระยะยาวต้องวางแผนทั้งการซ่อมบำรุง การพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมการลงทุนด้านระบบราง อยากให้ส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางฯ ที่มีอยู่ให้เข้มแข็ง รองรับความต้องการของภาครัฐ

โดยในที่ประชุมได้มอบหมายให้ กรมการขนส่งทางราง จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมด้านระบบรางของประเทศ ให้ BOI ประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมจากที่ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ประเภทกิจการผลิต และซ่อมรถไฟไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมระบบรางสามารถดำเนินการได้

ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เกิดพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องคำนึงถึงมาตรฐานเทคโนโลยี กลไกภาครัฐ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาบุคคลากรทางด้านระบบราง เนื่องจากตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายรถไฟ ระยะ 20 ปี หรือที่เรียกว่า M-Map ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 – 2580 และแผนการจัดหารถจักรของ รฟท. พ.ศ.2562 มีการประมาณการจำนวนตู้รถไฟในประเทศไทยรวม 11,927 ตู้ โดยต้องวางแผนร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลิตบุคลากร รวมทั้งพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางฯ ต่อไปในอนาคต

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนาระบบการขนส่งทางรางเต็มสูบ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การเดินทางของประชาชน ประหยัด สะดวก ปลอดภัยแล้ว ยังจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง ซึ่งจะเป็นทางรอดของระบบเศรษฐกิจไทย ที่จะไม่ต้องไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น

แต่เป็นการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะนำพาเศรษฐกิจของประเทศข้ามพ้นกับดักรายได้ระดับกลางได้อย่างแท้จริง และจะดันประเทศไทย ให้ไปยืนอยู่ในระดับหัวแถวของเอเชีย หรือระดับโลก ก็เป็นได้
และประการสำคัญหากการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยด้านนี้ก้าวหน้า ก็สามารถขายตู้รถไฟ รถไฟฟ้า องค์ความรู้ด้านการจัดการระบบราง ให้กับประเทศในอาเซียนหรือ นอกอาเซียน ได้อีกครับ