เดินหน้า!สร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2

2206


 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว กระทรวงคมนาคม เตรียมเดินหน้าแผนก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 เนื่องจาก ประสบปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร โดยตอนนี้ อยู่ระหว่างการเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสม คาดว่า จะเป็นบริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (Cr.ภาพ: FB:ข่าวและภาพกิจกรรมกระทรวงคมนาคม)

 

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมในครั้งนี้เพื่อต้องการรับฟังปัญหาและความต้องการของ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ที่ต้องการให้กระทรวงคมนาคมผลักดันโครงการสำคัญ เนื่องจาก ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นท่าอากาศยานสำคัญต้อนรับนักท่องเที่ยว และประสบปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร มีความสามารถรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี แต่ในปี 2562 มีผู้โดยสาร 11.33 ล้านคน

โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมสานต่อนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ขับเคลื่อนการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีปริมาณผู้โดยสารหนาแน่น รวมทั้งการพัฒนาท่าอากาศยานในต่างจังหวัดเพื่อบรรเทาความแออัดของท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (Cr.ภาพ: FB:ข่าวและภาพกิจกรรมกระทรวงคมนาคม)

 

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการพัฒนา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องให้ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ วางแผนการก่อสร้างไม่ให้กระทบกับประชาชน ส่วนการก่อสร้าง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ในอนาคต ต้องวางแผนการเวนคืนที่ดิน และขอความร่วมมือกับทางจังหวัดช่วยขับเคลื่อนการพัฒนา ท่าอากาศยานเชียงใหม่
ขณะที่การบรรเทาความแออัด ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะเร่งด่วน (ปี 2561 – 2563) ให้เร่งดำเนินการควบคู่กับการขับเคลื่อนโครงการพัฒนา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และใช้อาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่ากระบวนการต่าง ๆ จะแล้วเสร็จในอีก 1 ปีข้างหน้า และจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป
จากนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการออกแบบและก่อสร้างประมาณ 3 ปี นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ท่าอากาศยานเพิ่มร้านอาหารที่เป็นทางเลือกให้แก่ผู้โดยสาร สามารถใช้บริการได้ในราคาไม่สูงมากนัก รวมทั้งในช่วงวันที่ 1 – 5 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน อยากให้จังหวัดเชียงใหม่ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ เตรียมมาตรการความปลอดภัย การตรวจพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน การตรวจผู้โดยสาร ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ติดตามการแก้ไขปัญหาความแออัดของ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในชั่วโมงเร่งด่วน และมาตรการแก้ไขปัญหาการปล่อยโคมลอยส่งผลกระทบต่อการเดินอากาศ พร้อมให้กำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และฝากให้พี่น้องชาวเชียงใหม่ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่าในปีหน้าประเทศไทยจะมีผู้โดยสารด้วยเครื่องบินถึง 150 ล้านคน และเป็นผู้โดยสารภายในประเทศถึง 30 ล้านคน

สำหรับการพัฒนา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีดังนี้
1. งานบรรเทาความแออัด (ปี 2561 – 2563) โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์สัมปทาน ด้านทิศใต้ รองรับรถยนต์ได้ 1,300 คัน ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ด้านทิศเหนือ ให้ผู้โดยสารพักคอยระหว่างรอขึ้นเครื่องบิน สามารถจอดรถยนต์ได้ 400 คัน
2. โครงการพัฒนา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 (ปี 2561 – 2565) รองรับผู้โดยสารเป็น 16.5 ล้านคนต่อปี และโโครงการพัฒนา ทชม. ระยะที่ 2 (ปี 2564 – 2568) รองรับผู้โดยสารเป็น 20 ล้านคนต่อปี โดยก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขยายทางวิ่งให้รองรับได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขยายและปรับปรุงหลุมจอดเพิ่ม 19 หลุมจอด ติดตั้งสะพานเทียบเพิ่มอีก 6 ชุด ก่อสร้างอาคารบำรุงรักษาอากาศยาน ปรับปรุงถนนภายในท่าอากาศยาน เพิ่มช่องจราจรเข้า – ออก และสร้างทางต่างระดับแยกระหว่างทางเข้า – ออก
3. การสร้าง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (ปี 2578 – 2581) ซึ่งจะวางแผนดำเนินการควบคู่กับโครงการพัฒนาฯ ระยะที่ 1 และ 2 โดยอยู่ระหว่างการเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสม ทั้งนี้ ต้องผ่านการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ภาพจำลองโครงการท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (Cr.ภาพ ยูทูป:Airports of Thailand)

มีรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่สอง ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) ได้ศึกษาและมีความเห็นในเรื่องพื้นที่ที่เหมาะสมสอดคล้องกัน คือบริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

พื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 อยู่ที่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ และปัญหาประสบปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร ดังนั้นการเร่งปรับปรุงสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 1 และก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่สอง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และยังเป็นกระจายความเจริญ และเศรฐกิจสู่ภูมิภาค ด้วยครับ