เซ็นแล้ว! รถไฟฯ 3 สนามบิน ดันไทยสู่หัวแถวเอเชีย-ระดับโลก

501


สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว การลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เมื่อ 24 ตุลาคม 2562 ที่ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งการลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

การลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร(Cr.ภาพ: thaigov.go.th)

 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และบมจ. ช.การช่าง) โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(Cr.ภาพ:FB:โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – EEC)

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ เริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองวิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร ขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ  (Cr.ภาพ:FB:โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – EEC)

 

การลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท

โดยกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) กลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงและมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

สรุปได้ว่า การลงนามสัญญา ฯ ครั้งนี้ จึงนับว่า เป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย และนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (PPP) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท

และจะเป็นยกระดับการขนส่งทางรางของไทยให้ก้าวขึ้นอยู่ในระดับหัวแถวของเอเซียน เอเชีย หรือแม้กระทั่งระดับโลก ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเจริญรุดหน้า ตลอดจนการสร้างการเรียนรู้ความชำนาญเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงด้วย ซึ่งคงจะไม่เป็นการเกินเลยถ้าจะบอกว่า นี่จะเป็นการก้าวไปมิติใหม่ ในการพัฒนาประเทศไทยไปอีกระดับครับ