การไฟฟ้าฯเตรียมนำสายไฟลงดินอีก 94.2 กม.

1193

 

 

 

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาดูข่าว การไฟฟ้านครหลวง เดินหน้าโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน ถนนรัชดา – อโศก นอกจากนี้ยังบอกว่า ในปี 2562 มีหลายโครงการจะแล้วเสร็จ เช่น โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) โครงการถนนนานา และ โครงการนนทรี พร้อมระบุ มีโครงการที่จะลงนามสัญญาก่อสร้างในปี 2562 รวมประมาณ 94.2 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อเร็วๆนี้ นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เป็นประธานงานประชุมชี้แจงเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรัชดาภิเษก – อโศก โดยมีผู้แทนจากองค์กร และหน่วยงานภาคธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดแผนดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง ณ โรงแรม อวานี เอเทรียม กรุงเทพฯ |

 

นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เป็นประธานงานประชุมชี้แจงเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรัชดาภิเษก – อโศก (Cr.ภาพ FB: การไฟฟ้านครหลวง (MEA))

 

นายชัยภัทร สุขไพบูลย์วัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ตามที่การไฟฟ้านครหลวง ได้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร Smart Metro เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เร่งดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความเพียงพอ มั่นคง มีความปลอดภัย ทัศนียภาพที่สวยงาม นั้น

ล่าสุดการไฟฟ้านครหลวง จะดำเนินโครงการบนถนนรัชดาภิเษกเพิ่มเติม (ช่วงจากคลองสามเสน บริเวณด้านใต้ของ ถนนพระราม 9 ถึง ถนนพระราม 4) ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (ช่วงจากทางรถไฟ ถึง ซอยสุขุมวิท 63 หรือ ซอยเอกมัย) และ ถนนพระราม 4 (จากซอยโรงงานยาสูบ ถึง ซอยไผ่สิงโต) รวมระยะทาง 8.2 กิโลเมตร โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 ภายใต้งบประมาณราว 2,360 ล้านบาท

 

โครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน  ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (ช่วงจากทางรถไฟ ถึง ซอยสุขุมวิท 63 หรือ ซอยเอกมัย) (Cr.ภาพ: การไฟฟ้านครหลวง (MEA)

 

โครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน ถนนพระราม 4 (จากซอยโรงงานยาสูบ ถึง ซอยไผ่สิงโต) ((Cr.ภาพ: การไฟฟ้านครหลวง (MEA)

ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา การไฟฟ้านครหลวง ได้นำข้อแนะนำมาปรับปรุงพัฒนายกระดับการก่อสร้างทุกจุดตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งขั้นตอน วิธีการ และวัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงการควบคุมผู้รับจ้างให้งานก่อสร้างมีความเรียบร้อยปลอดภัย และลดผลกระทบด้านการจราจรในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อให้โครงการสำเร็จตามแผนงาน โดยมีข้อปฏิบัติต่างๆ ได้แก่

1. กำหนดให้ติดตั้งแนวรั้วกั้นชั่วคราว เพื่อแบ่งพื้นที่ให้ประชาชนได้มีช่องทางเดิน ติดตั้งไฟสัญญาณเพื่อความปลอดภัย ใช้ทางเดินได้อย่างสะดวกในช่วงเวลาก่อสร้างของแต่ละคืนที่เข้าดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพักบนทางเท้า และผิวจราจร

2. การก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน บนผิวจราจรกำหนดให้ใช้ฝาคอนกรีต (ชั่วคราว) เพื่อเปิด – ปิด เสมอผิวจราจร เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถมีผลกระทบน้อยที่สุดในช่วงเวลาก่อสร้าง

3. ลดผลกระทบจากการขุดเปิดถนนด้วยการดึงท่อลอดถนน (Horizontal Directional Drilling หรือ HDD) บนผิวจราจร สำหรับงานนำสายไฟฟ้าแรงต่ำ โดยเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

 

กำหนดให้ติดตั้งแนวรั้วกั้นชั่วคราว เพื่อแบ่งพื้นที่ให้ประชาชนได้มีช่องทางเดิน(Cr.ภาพ: ยูทูป: MEA Multimedia)

 

นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวง ยังจัดตั้งศูนย์ประสานงานในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ เพื่อเปิดช่องทางติดต่อสำหรับประชาชนในกรณีมีข้อร้องเรียน หรือความคิดเห็น พร้อมทั้ง การไฟฟ้านครหลวง ยังได้วางมาตรการความปลอดภัยโดยตรวจสอบสภาพพื้นผิวถนนและทางเท้าในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในช่วงเวลากลางวัน เพื่อความเรียบร้อย และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมโครงการที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562 ได้แก่
– โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม)
ถนนเพชรบุรี (แยกยมราช ถึง แยกอุรุพงษ์) ระยะทาง 0.2 กิโลเมตร รื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เมื่อเดือนมิถุนายนถนนนครสวรรค์ (แยกนางเลิ้ง ถึง คลองผดุงกรุงเกษม) ระยะทาง 0.3 กิโลเมตร รื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เดือนสิงหาคม
– โครงการถนนนานา (ช่วงถนนสุขุมวิท ถึง คลองแสนแสบ) รวมระยะทาง 0.75 กิโลเมตร รื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เดือนสิงหาคม
– โครงการนนทรี (ถนนสาธุประดิษฐ์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร รื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เดือนพฤศจิกายน และถนนสว่างอารมณ์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร รื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เดือนพฤศจิกายน

ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบันมีระยะทาง 74.8 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 โครงการถนนวิทยุ โครงการรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ)

นอกจากนี้ ปัจจุบัน การไฟฟ้านครหลวง มีโครงการที่จะลงนามสัญญาก่อสร้างในปี 2562 รวมประมาณ 94.2 กิโลเมตร มูลค่าของสัญญากว่า 20,000 ล้านบาท อาทิ โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ และโครงการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่นๆ เพื่อสร้างมหานครแห่งอาเซียนตามนโยบายรัฐบาล

แม้ว่าระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน มีต้นทุนสูงกว่าระบบ สายไฟฟ้าอากาศ ไม่น้อยกว่า 10 เท่า ใช้เวลานานในการก่อสร้าง มีความยุ่งยากซับซ้อนในการปฏิบัติงาน การบำรุงรักษา รวมถึงการจ่ายไฟให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่ๆ ทำได้ยากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ แต่ก็เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย และเกิดความสวยงามของเมืองไม่อายนานาประเทศเขาครับ