เคลียร์เรียบร้อย พร้อมเซ็นรถไฟ 3 สนามบินแล้ว

542

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามเรื่อง ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกันบ้าง ล่าสุด ได้มีการประชุม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ. โดยมีประเด็นสำคัญคือ ที่ประชุม ได้อนุมัติแผนเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการ

โดยนายวรวุฒิ มาลา ยืนยันว่า จะสามารถลงนามสัญญาได้วันที่ 25 ตุลาคมนี้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2562 ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ. โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม พร้อมรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

 

โดยภายหลังการประชุม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ เลขาธิการ กพอ. และนายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุม กพอ. สรุปสาระสำคัญดังนี้

เลขาธิการ กพอ. กล่าวว่า คณะกรรมการ กพอ. เห็นว่าการส่งมอบพื้นที่และสาธารณูปโภคตามเอกสารแนบท้ายสัญญาเรื่องการส่งมอบที่ดิน ที่คณะกรรมการคัดเลือกได้จัดทำส่งมานั้น จะทำให้เอกชนทำงานยาก เพราะจากเดิมที่ รฟท. ดำเนินการ ได้ให้เอกชนไปเจรจากับหน่วยงานที่มีสาธารณูปโภคเอง ซึ่งสาธารณูปโภคดังกล่าวมีจุดตัดทั้งหมด 200 กว่าจุด และมี 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการ กพอ. จึงมีความเห็นว่าถ้าเอกชนจะต้องไปดูเองทั้งหมดและทำแผนให้เป็นแผนเดียวกันเพื่อก่อสร้างก็จะลำบาก ที่ประชุม กพอ. ครั้งที่ผ่านมาจึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหาร ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน นำข้อมูลทั้งหมดไปพิจารณาถึงแผนการเร่งรัดส่งมอบที่ดินและสาธารณูปโภคให้ได้เร็วที่สุด

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ เลขาธิการ กพอ.(ขวา) Cr.ภาพ ยูทูป: ไทยคู่ฟ้า ทําเนียบรัฐบาล

 

ขณะเดียวกันให้ประสานกับเอกชนเพื่อให้ได้แผนการส่งมอบที่ดินและการปรับสาธารณูปโภคให้สามารถทำงานได้ ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ไปทำแผนการปรับสาธารณูปโภคให้สามารถทำงานได้ในพื้นที่ดังกล่าว แล้วนำเสนอคณะอนุกรรมการบริหาร และนำเสนอที่ประชุม กพอ. หลังจากที่ปรับทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ อุปสรรคสุดท้ายของโครงการคือเรื่องการส่งมอบที่ดิน ที่ภาคเอกชนเห็นว่าถ้าส่งมอบแบบเดิมเอกชนจะทำงานไม่เสร็จ และ กพอ. ก็เห็นว่าถ้าส่งมอบแบบเดิมแล้วรถไฟกับสนามบินจะไม่เชื่อมกัน จึงเป็นที่มาที่ต้องทำงานเรื่องนี้

โดยที่ประชุม กพอ. มีมติรับทราบแผนเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามที่คณะอนุกรรมการบริหาร ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเสนอ ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภครวม 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด

โดยการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภค ประกอบด้วย แก้จุดตัดเสาไฟแรงสูง 230 จุด ย้ายอุโมงค์ระบายน้ำ 1 จุด ย้ายท่อน้ำมัน 4 กิโลเมตร ย้ายเสาไฟลงใต้ดิน 450 เมตร ย้ายเสาโทรเลข รฟท. 80 กิโลเมตร

สำหรับระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ ช่วงที่ 1 สถานีพญาไท – สุวรรณภูมิ 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เดิม รฟท. พร้อมส่งพื้นที่ทันที ช่วงที่ 2 สถานีสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา 170 กิโลเมตร กำหนดพร้อมส่งพื้นที่และสาธารณูปโภคภายใน 2 ปี แต่จะเร่งรัดให้ได้ตามแผนคือ 1 ปี 3 เดือน หลังลงนาม โดยมีระยะเวลาสูงสุด 2 ปี ช่วงที่ 3 สถานีพญาไท – ดอนเมือง 22 กิโลเมตร กำหนดส่งมอบพื้นที่ภายใน 4 ปี แต่ตามแผนเร่งรัดพร้อมส่งพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หลังลงนาม เพื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจากสถานีพญาไท – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ตามเป้าหมายในปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567

ส่วนสถานีพญาไท – ดอนเมือง อาจจะเสร็จในปี 2567/2568 ซึ่งคณะกรรมการ กพอ. ได้อนุมัติตามแผนนี้เพื่อให้ไปช่วยกันทำงาน และเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น และ กพอ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบที่ดินและสาธารณูปโภค ภายใต้คณะอนุกรรมการของนายอุตตมฯ โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะทำงาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคณะทำงาน ซึ่งเอกชนก็รับทราบในเงื่อนไขนี้ โดยทาง รฟท. จะนำมติ กพอ.ไปเข้าคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อทำเอกสารแนบท้ายสัญญา และเตรียมพร้อมลงนามวันที่ 25 ตุลาคมนี้

เลขาธิการ กพอ. กล่าวว่า 2 เดือนที่ผ่านมา เรื่องที่พยายามทำกันอยู่คือเรื่องส่งมอบที่ดิน ที่เป็นเรื่องของหลายหน่วยงาน จนกระทั่งพิจารณาว่า รฟท. จะทำหน่วยเดียวคงไม่ไหว จึงได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม กพอ. ขออำนาจ กพอ. บริหารจัดการทำแผนเรื่องนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการบริหารแผนส่งมอบที่ดินและสาธารณูโปคที่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน มีเรื่องงบประมาณชัดเจน เวลาที่เสียไป 2 – 3 เดือนไม่ได้เสียเปล่า

เส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (Cr.ภาพ: eeco.or.th)

 

วันนี้ทุกฝ่ายเห็นด้วยกันว่าแผนนี้ทำได้ เป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทย โดยภาพใหญ่แล้วการส่งมอบที่ดิน 2 ปี กับ 4 ปี และเร่งรัดเป็น 1 ปี 3 เดือน กับ 2 ปี 3 เดือนนั้น หน่วยงานทั้งหลายมั่นใจว่าส่งมอบได้ ทั้งนี้ ถ้าส่งมอบไม่ได้ตามแผนเร่งรัดดังกล่าว หรือมีเหตุจำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร สามารถขยายเวลาให้เอกชนต่อไปได้ ถ้าช้า 3 เดือน ก็ขยาย 3 เดือน เป็นการขยายเวลาเมื่อมีเหตุจำเป็น โดยไม่มีการกำหนดให้ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับภาคเอกชน เงื่อนไขเป็นไปตาม RFP หรือ TOR ชัดเจนว่าจะต้องมีความเสี่ยงเรื่องแบบนี้ เมื่อประมูลเข้ามา เอกชนก็ต้องบวกความเสี่ยงนั้นอยู่ในตัวเงินที่ประมูลมาด้วยแล้ว ดังนั้นเอกชนย่อมรู้อยู่แล้วว่าต้องมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ขวา) Cr.ภาพ ยูทูป: ไทยคู่ฟ้า ทําเนียบรัฐบาล

 

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แผนการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภค และแผนการส่งมอบพื้นที่ในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ เพราะหากทำงานกันแบบเดิมก็จะเร่งรัดการก่อสร้างไม่ได้ จะทำให้เป็นปัญหาอย่างที่แล้ว ๆ มา ในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

จากนี้ไปจะเป็นการเตรียมเอกสาร นัดคณะกรรมการคัดเลือกไปปรับปรุงเอกสารแนบท้ายให้ตรงตามมติ กพอ. ยืนยันว่าเป็นไปตาม TOR เป็นไปตาม RFP รวมทั้งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีทุกประการ สามารถลงนามสัญญาได้วันที่ 25 ตุลาคมนี้ และส่วนตัวแล้วไม่รู้สึกหนักใจที่จะต้องรับผิดชอบโครงการฯ

สรุปนะครับว่า ตอนนี้ประเด็นที่เป็นปัญหา คือการส่งมอบที่ดิน ที่ยืดเยื้อมานาน ทำให้การเซ็นสัญญา รถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนาม เกิดความล่าช้า ก็คลี่คลายลงแล้ว ก็สามารถลงนามสัญญาได้วันที่ 25 ตุลาคมนี้

โครงการรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน Cr.ภาพ ยูทูป:EEC WE CAN

และหากทุกอย่างเดินหน้าไปได้ตามแผน โครงการรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงจากสถานีพญาไท – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา จะสามารถเปิดได้ตามเป้าหมายในปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ส่วนสถานีพญาไท – ดอนเมือง อาจจะเสร็จในปี 2567/2568 ครับ