เตรียมเซ็นต้นเดือนหน้า! สัญญา 2.3 รถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

597

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตาม ความคืบหน้าเรื่องรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนกันบ้าง ที่ล่าสุด บอร์ดการรถไฟฯ ได้เห็นชอบรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญา 2.3 ปรับกรอบวงเงินเป็น 50,633.50 ล้านบาท พร้อมเตรียมชงคมนาคมเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ต้นพฤศจิกายน 2562 ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. แจงว่า เหตุเปลี่ยนรถไฟความเร็วสูงใหม่ เป็นรุ่นฟู่ซิ่ง เพราะทันสมัยกว่า โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน(Cr.ภาพ ยูทูป การรถไฟแห่งประเทศไทย Official)

เมื่อ 17 ต.ค.2562 มีรายงานว่า คณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) ที่ปรับจาก 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท โดยคาดว่าจะลงนามกับทางจีนได้ในช่วงต้นเดือน พฤศจิกายน 2562 ในระหว่างการการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35

ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า สัญญา 2.3 รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดวงเงินและเนื้องาน เหตุเพราะมีการปรับเปลี่ยนรถไฟความเร็วสูง จากรุ่นเหอเสีย (Hexia) เป็นรุ่น ฟู่ซิ่ง (Fuxing) ที่ใหม่ มีเทคโนโลยีทันสมัยและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน(Cr.ภาพ ยูทูป การรถไฟแห่งประเทศไทย Official)

 

รวมทั้งการปรับการก่อสร้างโดยเฉพาะช่วงอุโมงค์ และโยกเนื้องานจากสัญญาโยธา เช่น โรงเชื่อมราง รถซ่อมบำรุง รถตรวจสภาพทาง โดยยืนยันว่า การปรับเพิ่มวงเงินสัญญา 2.3 ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อกรอบวงเงินโครงการลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท หลังจากนี้จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.ขออนุมัติต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางราง และสำนักงานบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน (สบร.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าในด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยไม่มีปัญหาอุปสรรคในเรื่องของแหล่งเงิน เนื่องจากได้รับการจัดสรรแหล่งเงินจากสำนักงบประมาณและ กระทรวงการคลัง ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงาน ทั้งสองจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในการดำเนินงานโครงการ ได้แบ่งออกเป็น 4 สัญญา ดังนี้

สัญญาที่ 1 งานโยธา แบ่งเป็น 14 สัญญาย่อย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 สัญญา ได้ตัวผู้รับจ้างแล้วอยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญา 5 สัญญา ระหว่างการพิจารณาผู้รับจ้าง 5 สัญญา ระหว่างการปรับปรุงร่างขอบเขตงาน (TOR) 1 สัญญา (ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย) และอยู่ระหว่างเตรียมเอกสาร ประกวดราคา 1 สัญญา คือ สัญญาในช่วงบางซื่อ -ดอนเมือง ที่ใช้โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

ที่อยู่ระหว่างเตรียมการดำเนินงาน คือ สัญญา 2.1 เป็นสัญญาการสำรวจและออกแบบรายละเอียดงานโยธา ซึ่งดำเนินการ ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว

สัญญา 2.2 เป็นสัญญาควบคุมงานการก่อสร้างงานโยธา โดยได้จ้างบริษัทจีนควบคุมงาน ก่อสร้าง โดยอยู่ระหว่างการดำเนินงาน

ซึ่งทั้ง 3 สัญญาดังกล่าวข้างต้น กรมการขนส่งทางราง ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ใช้เงินกู้ ภายในประเทศทั้งสิ้น

ส่วนสัญญา 2.3 สัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถ และฝึกอบรมบุคลากร ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการของร่างสัญญา 2.3 เหลือเพียงขั้นตอนในการดำเนินงานของฝ่ายไทยที่จะได้เตรียมการดำเนินการตามแนวปฏิบัติของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการลงนามในสัญญา

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการถ่ายทอด เทคโนโลยี (Technology Transfer) เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศไทย ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ได้ร่วมลงทุนกับฝ่ายจีน จึงไม่มีพันธะสัญญาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่สองข้างทางรถไฟ เนื่องจากไทยเป็นผู้รับผิดชอบลงทุนเองทั้งหมด โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 ซึ่งการลงทุนจะ ไม่เป็นภาระด้านงบประมาณและการลงทุนของประเทศที่สูงเกินไป เนื่องจากมีการเฉลี่ยการลงทุนในแต่ละปี

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว จะใช้ขบวนรถไฟความเร็วสูง รุ่น Fuxing Hao ซึ่งเป็นรุ่นที่ทันสมัย และ มีความเร็วสูงสุดในการให้บริการที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ไปตามนิยาม และสอดคล้องกับคำจำกัดความของคำว่า “รถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail) ที่ UIC กรือ International Union of Railway กำหนดว่า มีความเร็วสูงสุดให้บริการที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมเชื่อมั่นว่า การดำเนินงานโครงการดังกล่าว จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตลอดแนวเส้นทางรถไฟเป็นอย่างดี พร้อมทั้ง เป็นการกระจายความเจริญจากกรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาคและจะเป็นการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนในการดำเนินงานระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและ สาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) เสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางด้าน การคมนาคมของไทยในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

นี่เป็นความคืบหน้าสุด โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 ซึ่งจากจะช่วยให้เดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จะเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคได้เป็นอย่างดีครับ ครับ