ไทย-ญี่ปุ่น หารือลุย รถไฟความเร็วสูง”กรุงเทพฯ- เชียงใหม่”

867


สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตาม ความคืบหน้าเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ กันบ้าง หลังจากโครงการนี้ก็หยุดนิ่งไประยะหนึ่ง เนื่องมาจากทางฝ่ายญี่ปุ่น ระบุว่า ไม่คุ้มค่าในการลงทุน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ (Cr.ภาพ ยูทูป:การรถไฟแห่งประเทศไทย Official)

 

แต่ล่าสุด ตัวแทนของฝ่ายไทยและญี่ปุ่น ได้นั่งหารือกันอีกครั้งหนึ่ง โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอแนวทางการลดต้นทุน 2 ประเด็นหลักในการลงทุนโครงการนี้ และจะนำผลหารือเสนอต่อคณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานต่อไป เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง(Cr.ภาพ FB กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม)

 

ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้งหนึ่ง สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงิน 5.26 แสนล้านบาท หลังจากเมื่อปีที่แล้วฝ่ายญี่ปุ่น ไม่สนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว เพราะผลการศึกษาพบว่า ไม่คุ้มค่าการลงทุน และหลังจากนั้นโครงการนี้ก็หยุดนิ่งไป

การประชุมหารือทางเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทย – ญี่ปุ่น(Cr.ภาพ FB กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม)

 

แต่ล่าสุดวันที่ 16 ต.ค. 62 ที่กรมการขนส่งทางราง นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมหารือทางเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทย – ญี่ปุ่น พร้อมด้วยนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ข้าราชการ ขร. และตัวแทนฝ่ายญี่ปุ่นจากหลายหน่วยงาน เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA เข้าร่วมประชุม

โดยการประชุมเป็นการนำเสนอแผนการดำเนินงานและขอบเขตการศึกษา รวมทั้งแนวทางการลดต้นทุนโครงการ มีกำหนดการดำเนินงาน 6 เดือน คือ ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563 ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอแนวทางการลดต้นทุน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การปรับลดจำนวนตู้รถไฟจาก 12 ตู้ต่อขบวน เหลือ 8 ตู้ต่อขบวน และการปรับลดในส่วนของงานโยธา ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อคณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานต่อไป

รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ช่วง กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. (Cr.ภาพ ยูทูป:การรถไฟแห่งประเทศไทย Official)

 

สำหรับรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 668 กม. วงเงินลงทุนรวม 445,303 ล้านบาท แบ่งการดำเนินงาน ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. วงเงินลงทุน 212,892 ล้านบาท ที่กำหนดไว้คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2568 อัตราค่าโดยสาร 640-1,700 บาท ประเมินผู้โดยสารปีที่เปิดที่ 29,000 คน/วัน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 14.7 %

แนวเส้นทางเริ่มต้นที่บริเวณสถานีบางซื่อ วิ่งไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม สิ้นสุดเส้นทางเฟสแรกที่จังหวัดพิษณุโลก มี 7 สถานี ได้แก่ สถานีบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก

รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม.(Cr.ภาพ ยูทูป:การรถไฟแห่งประเทศไทย Official)

 

ส่วนระยะที่ 2 ช่วง พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม. วงเงินลงทุน 232,411 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2572 อัตราค่าโดยสาร 385-1,044 บาท แนวเส้นทางประกอบด้วย 5 สถานีได้แก่ สถานีสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่

โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เป็นความร่วมมือพัฒนาระบบรางระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ใช้ระบบเทคโนโลยีซินคันเซน โดยการให้บริการจะเน้นขนส่งผู้โดยสารเป็นหลักและขนส่งสินค้าเป็นรอง

การที่ญี่ปุ่นหารือเรื่องนี้กับไทยอีกครั้งหนึ่ง พร้อมข้อเสนอแนะนำให้ลดต้นทุน หลังจากบอกปฏิเสธไทยไปก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า มีโอกาสสูงที่ญี่ปุ่นจะหันกลับมาร่วมมือกับไทยในโครงการสำคัญนี้ครับ