ลุยนำสายสื่อสารลงใต้ดิน

532

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามเรื่อง โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร กันบ้าง ล่าสุดได้มีผู้ยื่นความต้องการใช้ ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครแล้ว จำนวน 8 ราย โดยได้ระบุความต้องการใช้ท่อร้อยสายแยกเป็นรายถนนจำนวน 682 เส้นทางทั่วทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งจากข่าวนี้ทำให้เห็นเค้ารางกรุงเทพมหานครปลอดจากสายสื่อสารพะรุงพะรัง ใกล้ความจริงมากขึ้น เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

กรุงเทพมหานครมีความประสงค์จะดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี คือ พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2575 ตามประเด็นยุทธศาสตร์มหานครสีเขียว สะดวกสบาย อันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่กรุงเทพมหานคร ต้องจัดระเบียบ ปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้แลดูสะอาด ไม่มีสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์รกรุงรัง โดยกรุงเทพมหานครต้องเร่งลงทุนพัฒนาระบบท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร Cr.ภาพ: FB: บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด

 

ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ซึ่งให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวนั้น เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการทุกรายเพื่อขอทราบความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในลักษณะของ “ไมโครดัก”ของทางบริษัทฯ ไป เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562

และให้ผู้ประกอบการที่สนใจส่งเอกสารกลับมาที่บริษัทกรุงเทพธนาคม ภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 โดยได้จัดส่งหนังสือสำรวจความต้องการไปยังผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 ทุกรายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 61 ราย

ภาพแบบนี้มีเค้าลางจะหายไปจากกรุงเทพฯ Cr.ภาพ: thanakom.co.th

 

ซึ่งเมื่อครบกำหนด ปรากฎว่ามีผู้สนใจแจ้งความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในลักษณะ “ไมโครดัก”ของทางบริษัทฯ จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท เคเบิลคอนเนค จำกัด 2.บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด 3.บริษัท อินฟอเมชั่น ไฮเวย์ จำกัด 4. บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ 8.บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) และอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารโดยมีจดหมายขอส่งเอกสารล่าช้าอีก 3 ราย

นายมานิต กล่าวต่อว่า ในการขอทราบความต้องการใช้ท่อร้อยสายในครั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการระบุรายละเอียดความต้องการใช้ท่อร้อยสายแยกเป็นรายถนนจำนวน 682 เส้นทางทั่วทั้งกรุงเทพฯ โดยให้ทางผู้ประกอบการสามารถระบุความต้องการได้ว่าแต่ละถนนมีความต้องการใช้จำนวนกี่ท่อ ทั้ง 2 ฝั่งถนนหรือไม่ และต้องการใช้ท่อในปัจจุบันจำนวนกี่ท่อ และแผนในอนาคต 5-10 ปี จำนวนเท่าใด

สำหรับขั้นตอนหลังจากที่ได้ทราบความต้องการใช้ท่อทั้งหมดแล้ว จะใช้เป็นข้อมูลที่สำคัญในการออกแบบระบบ และคำนวณต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งจะสะท้อนมาเป็นอัตราค่าเช่าท่อ โดยจะสรุปข้อมูลเสนอไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพิจารณาอัตราค่าเช่าท่อร้อยสาย ตามขั้นตอนต่อไป

ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในลักษณะ “ไมโครดัก” Cr.ภาพ: FB: บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด

นายมานิต กล่าวย้ำด้วยว่า บริษัทฯยืนยันว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนมีความโปร่งใสและพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการเพื่อให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครที่มีความสวยงาม ปลอดภัย ทันสมัย ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการผลักดันโครงการนี้ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ภายใต้การดำเนินงานอย่างเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการทุกรายและสามารถตรวจสอบได้

การนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นอีกโครงการสำคัญ ที่ช่วยให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งว่ากันกันจริงๆแล้ว กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่สวยงามไม่แพ้เมืองใดในโลก

หากมีการนำสายสื่อสาร และสายไฟฟ้าลงใต้ดินได้ นอกจากจะทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่แล้ว ก็ยังเป็นการการช่วยสร้างภาพลักษณ์ในเชิงการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งจะนำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ ครับ